Monday, December 17, 2018

เกิดเป็นพุทธไทย ต้องไม่สะเทือนใจกับการฆ่า




การพูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย หากเทียบกับความเชื่ออื่นๆ ที่คนไทยมี เช่น “ถ้าชนใครแล้วไม่ตาย ให้ถอยรถกลับมาเหยียบซ้ำ” และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อนผมมีประสบการณ์โดยตรง แกเล่าว่า เมื่อแกกลิ้งอยู่บนถนน รถบรรทุกได้ถอยกลับมาเพื่อเหยียบซ้ำ แต่แกใช้แรงที่มี คลานไปหลบหลังต้นไม้ จนคนอื่นๆ ลงมาช่วย


อย่างน้อยการฆ่าคอมมิวนิสต์เกิดจากการสร้างภาพคนชั่วให้กับเหยื่อก่อน เขาสมควรตายเพราะเป็นคนชั่ว เขาทำลายคุณความดีของสังคมบางอย่าง เช่น ชาติหรือศาสนา การฆ่าเขาเพื่อรักษาความเป็นระเบียบของสังคมจึงทำได้ในนามคนดี (ตามคติมหาภารตะและเถรวาทไทย) แต่การขับรถกลับมาเหยียบคนที่นอนอยู่กลางถนน โดยไม่มีอะไรยืนยันว่าเขาเป็นคนชั่ว นี่เป็นสิ่งที่ทำเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบเท่านั้น (คือเชื่อว่า เสียเงินให้กับศพน้อยกว่าค่ารักษาพยาบาลหรือพิการ)

กล่าวคือ แม้แต่คนที่ยังไม่รู้ว่าดีหรือชั่วเรายังฆ่าได้ ไม่จำต้องพูดถึงการฆ่าคนชั่วเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง

ยิ่งปฏิบัติธรรม ยิ่งเฉยเมยต่อการฆ่า

ข้อเขียนของ สนิทสุดา เอกชัย (เราเป็นพุทธแบบไหนกัน) เปิดประเด็นได้ดีมากว่าแท้จริงแล้วการปฏิบัติธรรมอาจทำให้คนเข้มแข็งขึ้นกับการเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม เพราะแท้จริงแล้วเถรวาทมีมิติทางสังคมที่คับแคบ ความทุกข์ทุกอย่างดับได้ที่ใจเรา ซึ่งเกิดจากการรู้เท่าทันด้วยสติ ไม่ใช่การเน้นให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เจ้าคุณโชดก ญาณสิทธิ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์อันดับต้นๆ ของไทยช่วงทศวรรษ 1980 ให้คำแนะนำในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาสังคมว่า “ให้กลับมาดูที่ตัวเองและแก้ที่ตัวเอง”

และการสอนกรรมฐานแบบให้ดูใจ (เจ้าของ) ในแบบพระป่าหรืออีกหลายสำนักเช่น หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ก็ยืนยันได้ชัดถึงการไม่สนใจประเด็นทางสังคม อย่างน้อยที่สุด เราไม่เคยเห็นกลุ่มพระสงฆ์ออกมารณรงค์ให้ยุติการฆ่าหรือโทษประหารชีวิตเป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หลายท่านเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้เลย เช่น กรณีพระสมปอง ตาลปุตโต เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต (โปรดดู พระมหาสมปอง เห็นด้วย? กฏหมายและกฏแห่งกรรมกับการประหารชีวิต)

คนไทยที่ออกจากบ้านเพื่อปฏิบัติธรรมในวัดเพราะเขาต้องการทิ้งเรื่องวุ่นวายทางโลก และคาดหวังมากว่าเขตวัดเป็นพื้นที่ทางธรรมที่ให้ความสงบได้ ฉะนั้นเพื่อจะรองรับคนเหล่านี้ วัดเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า และพระซึ่งสอนปฏิบัติธรรม (ตรงข้ามกับพระที่เรียนทางโลก) จึงถูกคาดหวังให้ทิ้งเรื่องภายนอกให้มากที่สุด สังเกตง่ายๆ หากพระรูปไหนชอบพูดเรื่องทางโลก ท่านก็จะไม่เด่นด้านการปฏิบัติธรรม ยิ่งพูดน้อย ยิ่งสะท้อนความสำรวม หรือหากพูดมากก็ควรอยู่ในประเด็นสมาธิเท่านั้น

เพราะทางโลกและทางธรรม สำหรับชาวเถรวาทเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ต่างจากมหายานและวัชรยาน ที่มองว่า สังสารวัฏและพระนิพพานดำรงอยู่ด้วยกัน เราไม่จำเป็นต้องหนีอย่างหนึ่งเพื่อเข้าหาอีกอย่าง แต่เพราะเข้าใจสังสารวัฏต่างหาก จึงจะเข้าถึงพระนิพพาน

วิจักขณ์ พานิช (ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดของวัชรยาน) อธิบายสัมปชัญญะ ในการปฏิบัติธรรมต่างออกไปจากเถรวาท ขณะที่เถรวาทแปลสัมปชัญญะว่าการรู้ตัวทั่วพร้อม มหายานและวัชรยานมองว่า เป็นศักยภาพของสติที่ขยายกว้างออกไป สัมปชัญญะจึงไม่ใช่แค่รู้ตัวเอง แต่ขยายไปถึงคนอื่นๆ และสังคม นั่นหมายความว่า คนที่มีสัมปชัญญะ จะไม่นิ่งเฉยเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนหรือความอยุติธรรม (political / environmental awareness)เป็นต้น

ในทางเถรวาท ปรากฎการณ์ต่างๆ ถูกอธิบายผ่านกฎไตรลักษณ์และกรรม ฉะนั้น หากมีคนถูกจับเข้าคุกด้วยความไม่ยุติธรรม นั่นเป็นเพราะกรรมเก่าในชาติก่อนๆ ให้ผล การจัดการความทุกข์หรือปัญหาที่ดีที่สุดคือ อยู่กับปัญหานั้นด้วยจิตใจมั่นคง ไม่ปล่อยจิตใจต้องทุกข์ทรมานไปตามร่างกาย เพราะคนที่อยู่นอกคุก แต่ไม่ปฏิบัติธรรม ควบคุมใจตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต่างกับการติดคุก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่ควรฝากความหวังให้ชาวเถรวาทหรือผู้ปฏิบัติธรรมแก้ปัญหาสังคม

ศีลข้อ 1 ไม่เคยถูกถกเถียงอย่างจริงจัง

การฆ่าสัตว์ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด ก็ถือเป็นการละเมิดสิกขาบทข้อปาณาติบาตทั้งนั้น นอกจากการไม่ฆ่าด้วยตัวเองแล้ว ยังรวมถึงการไม่สั่งให้คนอื่นฆ่าหรือยินดีเมื่อคนอื่นฆ่าด้วย พระสงฆ์เองเมื่อเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในถิ่นนี้ ก็เลือกจะปรับตัวตาม นั่นคือ เราไม่นิยมสอนให้หยุดการฆ่าสัตว์พวกนั้น

2-3 ปีที่ผ่านมา โครงการหมู่บ้านศีลห้ามีชื่อเสียงมาก อย่างน้อยผู้ใหญ่บ้านและเจ้าคณะอำเภอต้องเหนื่อยกับการแจกเอกสารให้คนช่วยสมัครเข้าโครงการ สิ่งหนึ่งที่พบคือ โครงการนี้ไม่ได้สอนให้หยุดตกปลาหรือเลี้ยงไก่ไว้กิน คำถามคือ แล้วจะมีศีลห้าที่บริบูรณ์ได้หรือ? ยิ่งกว่านั้น พระหลายรูปนำเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปเทศน์ เริ่มด้วยการแบ่งที่ดินว่าส่วนหนึ่งเพื่อปลูกข้าว ส่วนหนึ่งขุดบ่อเลี้ยงปลา (ไว้ฆ่ากิน) เป็นต้น

ชาวเถรวาทมองว่า การซื้อปลาจากตลาดซึ่งมีคนฆ่าให้แล้วย่อมไม่มีส่วนบาป และอ้างชีวกสูตรที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เนื้อที่เราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินและไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเรา เป็นเนื้อที่กินได้ การพูดเช่นนี้อาจใช้ได้กับพระสงฆ์ซึ่งต้องขอคนอื่นกิน กล่าวคือ ชาวบ้านทำอะไรกิน ท่านก็กินไปตามนั้น แต่ฟังไม่ขึ้นสำหรับฆราวาสผู้ซึ่งเลือกได้ว่าตนจะกินอะไร

การตลาดในปัจจุบันซับซ้อนขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักศาสนาก็ต้องถูกมองแบบซับซ้อนขึ้นด้วย มองในแง่ demand-supply แม้เจ้าของธุรกิจจะไม่เจาะจงว่าเขาฆ่าปลาตัวนี้เพื่อ ดช.ดำ แต่เขาจะคำนวนว่าคนกี่คนต้องการปลา และปลาตามจำนวนนั้นจะถูกจับมาฆ่าป้อนตลาด ซึ่งคนในปริมาณเท่านั้นก็บริโภคกันทุกวัน ชาวเถรวาทที่ซื้อปลากินก็ไม่รู้สึกบาปอะไร พูดให้ง่ายคือ หากคนในหนึ่งอำเภอเลิกกินเนื้อสัตว์ ปลาราวหมื่นตัวจะไม่ถูกฆ่า เราจะปฏิเสธได้ไหมว่า การตายของปลาหมื่นตัวไม่เกี่ยวกับคนในอำเภอนั้น หรือ ดช.ดำ เลย? ทุกอย่างเป็นความผิดของคนฆ่าหรือเจ้าของธุรกิจเท่านั้น นี่แหละคับ โลกทัศน์แบบเถรวาท

แต่ก็น่าแปลก ว่าชาวเถรวาทกลับมีวิธีคิดเรื่องยาเสพติดที่ต่างออกไป คือทั้งคนผลิต คนขายและคนเสพ ต้องได้รับโทษ (เพราะต้องรับผิดชอบร่วมกัน) หากเทียบกับเรื่องปลา ก็ควรเอาผิดเฉพาะคนผลิตยาเท่านั้น (อิอิ)

ย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่ได้เสนอว่าคนกินเนื้อเป็นคนชั่ว แต่แค่ชี้ให้เห็นความย้อนแย้งในการตีความคำสอนแบบเถรวาท และผมคิดว่า เรายังกินเนื้อได้โดยยอมรับว่าเรามีส่วนกับการฆ่า ผมแค่รังเกียจคนที่อ้างว่าเป็นคนดีเพียงเพราะไม่ฆ่าแต่ไปซื้อจากตลาดทุกวัน และนั่งสมาธิรักษาใจไม่ให้ยินดีกับการฆ่า (อิอิ)

มหายานฆ่าตัวตาย เถรวาทฆ่าคนอื่น

หากจะดูถูกเกาหลีและญี่ปุ่นซึ่งเจริญกว่าเรา เรามักจะยกเรื่องการฆ่าตัวตายของเขา และบอกว่านั่นเป็นเพราะการไม่มีศาสนาที่ดีไว้ยึดเหนี่ยว รวมทั้งวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งคนไทยโชคดีมากที่มีวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นกว่า คือไม่ต้องตึงเครียดกับอะไรให้มาก เรามีวิธีปล่อยวางที่ใช้ได้แม้แต่ช่วงที่ผู้อื่นได้รับความไม่เป็นธรรม

ฆราวาสและพระมหายานเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการฆ่าตัวตายเพื่อปกป้องศาสนา เช่น เวียดนาม และวัชรยานก็ยังมีให้เห็นจนปัจจุบันที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ซึ่งข่าวอ้างว่าเป็นการเรียกร้องอิสรภาพจากจีน แม้เราจะบอกว่าพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมให้ฆ่าตัวตาย แต่เมื่อมีกรณีคนฆ่าตัวตายเพื่อปกป้องศาสนา กลับได้รับการชื่นชมและยกให้เป็นวีรบุรุษในนิกายนั้นๆ สรุปแล้ว ศาสนาถูกตีความได้หลากหลายจริงๆ

พระสงฆ์ในเถรวาทไม่เน้นการฆ่าตัวตาย แต่จะเน้นให้ฆ่าคนอื่นซึ่งตนคิดว่าเป็นภัยต่อศาสนาและบ้านเมืองแทน กรณีของกิตติวุฑโฒส่งเสริมให้ฆ่าคอมมิวนิสต์ในไทยและวิราธุส่งเสริมให้ฆ่าโรฮิงญาในพม่าเป็นตัวอย่างที่ชัด ถามว่า ทำไมทัศนะเรื่องการฆ่าของเถรวาทและมหายานจึงต่างกัน?

ผมคิดว่า เพราะมหายานสอนเรื่องโพธิจิตคือทุกชีวิตเท่าเทียมกันและควรค่าแก่การเคารพ (ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว) นี่ไม่เฉพาะแต่คนเท่านั้น รวมไปถึงการต้องกินเจเพื่อไม่ให้สัตว์ถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารของตนด้วย ดังนั้น หากจะต้องมีใครตายเพื่อปลุกจิตสำนึกหรือจะนำความยุติธรรมบางอย่างมาสู่สังคม ก็ขอให้ตัวเองตายแล้วกัน เพราะอย่างน้อยมันเป็นความประสงค์ของตนเองและคนอื่นจะไม่เดือนร้อนมาก

ต่างกับเถรวาท ที่แบ่งความดีความชั่วออกจากกันอย่างชัดเจน การเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่จะประเสริฐได้จริงก็ต้องฝึกเพื่อเป็นคนดี พูดให้กลับกันคือ ในเมื่อเกิดมาแล้วไม่ฝึกฝนและยังจะเป็นคนชั่ว ชีวิตเขาก็ไม่ประเสริฐ เมื่อไม่ประเสริฐ เขาก็ไม่ต่างจากสัตว์ ฉะนั้น หากมีใครสักคนต้องตาย ก็ควรเป็นคนชั่ว

แม้เราจะไม่สนับสนุนการฆ่าตัวตาย แต่หากจะมองให้เห็นข้อดีบ้าง ฆ่าตัวเองก็ยังดีกว่าการฆ่าคนอื่น เพราะการฆ่าตัวเองทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ขณะที่การฆ่าคนอื่นทำได้นับครั้งไม่ถ้วน ผมสันนิษฐานว่า ประเทศที่คนฆ่าตัวตายมาก อาจเกิดจากการที่เขาเคารพสิทธิของผู้อื่นก็เป็นได้ ขณะที่ประเทศที่ไม่สนใจสิทธิของใคร ก็เน้นไปที่การฆ่าผู้อื่น (??)

เป็นเรื่องตลกนะ เมื่อเกิดปัญหาให้ต้องแก้ไข เถรวาทเสนอวิธีให้แก้ที่ใจตัวเอง แต่เมื่อปัญหาบานปลายถึงขั้นรุนแรง เถรวาทเสนอให้จัดการกับชีวิตคนอื่น (อิอิ)

เจษฎา บัวบาล
17 ธันวาคม 2561
ภาพจาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_713899

No comments:

Post a Comment