Monday, August 27, 2018

พุทธศาสนาเถรวาทถูกสร้างผ่านตำรายุคหลัง




 
ชาวพุทธเถรวาทอ้างว่าคัมภีร์รุ่นหลังตั้งแต่ อรรถกถาตลอดจนหนังสือธรรมะในปัจจุบันมีเป้าหมายเพื่ออธิบายคำสอนที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนของพระไตรปิฎก บทความนี้เสนอแย้งว่า แท้จริงแล้วคัมภีร์รุ่นหลังเกิดขึ้นเพื่อ (1) อธิบายคำสอนใหม่เมื่อเห็นว่าพระไตรปิฎกงมงายเกินไป (2) เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งสามารถอ้างความชอบธรรมในการตั้งสำนัก/ลัทธิใหม่ และการผลิตตำราขึ้นมาแต่ละยุคก็เพื่อสร้างรูปแบบของเถรวาทนั่นเอง


ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคัมภีร์พุทธ
พุทธศาสนาเถรวาทยึดพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นคัมภีร์หลัก โดยถือว่าเป็นแหล่งข้อมูล ปฐมภูมิฉบับภาษาบาลีอักษรไทยมีจำนวน 45 เล่ม ซึ่งเนื้อหาด้านในเป็นการบันทึกการเทศน์สอนของพระพุทธเจ้าและสาวกคนสำคัญ เช่น พระสารีบุตร โดยเริ่มจากการบรรยายให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในเมืองไหน พบเจอใคร แสดงธรรมหัวข้ออะไร ฯลฯ

คำสอนเหล่านี้ถูกท่องจำกันจากรุ่นสู่รุ่น (มุขปาฐะ) และได้ถูกจารึกเป็นตัวอักษรครั้งแรกในศรีลังกาหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานราว 700 ปี อาจารย์รุ่นหลังเห็นว่าคำสอนบางอย่างเข้าใจยาก จึงแต่ง อรรถกถา ขึ้นมาอธิบายเพิ่มเติม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า ปยุตฺโต) เชื่อว่า อรรถกถาเองอาจเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น อรรถกถาและคัมภีร์อื่นๆ จึงถือว่าเป็นแหล่งข้อมูล ทุติยภูมิ

ต่อไปจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระไตรปิฎกเดิมกับคัมภีร์รุ่นหลัง เพื่อให้เห็นว่า เนื้อหาของธรรมะที่ถูกขยายความเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของผู้เสนอและไม่จำเป็นต้องคล้อยตามพระไตรปิฎกตามที่กล่าวอ้างกัน นั่นเป็นเพราะเป้าหมาย 2 อย่างคือ

1. อธิบายคำสอนที่ดูงมงายในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าอธิบายการกินอาหารว่ามีเป้าหมายเพื่อให้มีกำลังและเร่งปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ไป มิใช่กินเพราะติดยึดในรสชาติอาหาร ท่านจึงเปรียบเทียบกับบิดามารดาที่ฆ่าลูกน้อยแล้วกินเนื้อ ซึ่งมิได้กินด้วยความโลภ แต่เพื่อปะทังชีวิตและมีกำลังในการข้ามพ้นทางกันดาร (ปุตตมังสสูตร สังยุตตนิกาย ข้อ 241)

คำสอนเช่นนี้ไม่มีปัญหาอะไรหากเจาะจงไปที่ประเด็นการไม่โลภมากในรสชาติอาหาร แต่จะเกิดปัญหาหากถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการฆ่าลูก พระสูตรนี้สะท้อนแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมคือ สามารถทำร้าย/ฆ่าคนอื่นได้ เพื่อเป้าหมายที่ดีกว่าในอนาคต ฆ่าคนเพียงคนเดียวเพื่อรักษาชีวิตของคนสองคน และแนวคิดนี้ถูกโจมตีอย่างมากในแง่จริยศาสตร์ที่สนใจเป้าหมายมากกว่าวิธีการ

อาจารย์รุ่นหลังจึงแต่ง อรรถกถามาอธิบายพระสูตรนี้เพื่อรักษาภาพลักษณ์คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเสนอว่าบิดามารดาย่อมรักลูกมากจึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่เด็กคนนั้นเสียชีวิตเองเพราะเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง อรรถกถาระบุว่า มารดาและบิดาเกี่ยงกันที่จะให้อีกฝ่ายเป็นคนลงมือฆ่า ลูกน้อยก็ต้องเดินไปหาแม่บ้าง ไปหาพ่อบ้างจนเหนื่อยและสิ้นใจตาย (อรรถกถา ปุตตมังสสูตรที่ 3)

อีกกรณีหนึ่งคือ การเดินทางจาริกแสวงบุญไปยัง สังเวชนียสถานที่ 4” พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีจิตเลื่อมใสเดินทางไปชมสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนาและปรินิพพาน เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ (มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย ข้อ 131)

ปยุตฺโตเห็นว่า คำสอนเช่นนี้อาจทำให้คนพุทธติดอยู่แค่ขั้นไปเที่ยวชมและมีความเลื่อมใส ซึ่งไม่เพียงพอและยังไม่ถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนา (ที่ท่านเข้าใจ) ท่านจึงอธิบายสังเวชนียสถานใหม่ว่า มิได้แปลว่าสถานที่อันก่อให้เกิดความสังเวชหรือสลดหดหู่ แต่สังเวชในที่นี้คือ เกิดกำลัง หมายถึง เมื่อมาเห็นสถานที่เหล่านั้นแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรม เพราะถือว่าพระพุทธเจ้าได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (พระพรหมคุณาภรณ์, 2547, น. 267-268)

สังเวชนียสถานของปยุตฺโตจึงมีมาตรฐานที่สูงกว่าของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก จากเดิมที่หมายถึงสถานที่ที่เห็นแล้วศรัทธาเลื่อมใส และตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ก็กลายเป็นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนเร่งปฏิบัติเพื่อจะได้สวรรค์หรือบรรลุธรรม ทั้งที่คำสอนเรื่องในระดับของการทำความดีแล้วได้สวรรค์ตอบแทนมีปรากฏในพระไตรปิฎกจำนวนมาก เช่น วิมานวัตถุ แต่สิ่งเหล่านี้ประยุตฺโตมองว่ามีความบกพร่องและควรดึงคนให้เข้าสู่เป้าหมายที่สูงกว่า จึงต้องอธิบายคำสอนใหม่

แท้จริงแล้ว พุทธศาสนาที่ปัญญาชนไทยสมาทานอยู่ซึ่งอ้างกันว่ามีความทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์มิได้มาจากพระไตรปิฎก หากแต่เป็นพุทธที่ตีความและสอนใหม่โดยปยุตฺโตและพุทธทาสเป็นต้น คนเหล่านี้ทำหน้าที่ปกป้องพระไตรปิฎกด้วยการบอกว่า ผู้ที่เห็นต่างออกไป บิดเบือน คำสอน ทั้งที่สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ก็มีลักษณะเดียวกัน คืออธิบายบางอย่างให้มากไปกว่าที่พระพุทธเจ้าเสนอในที่นั้นๆ

2. เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนและอ้างความชอบธรรมในการตั้งลัทธิใหม่
พระสงฆ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของพระรัตนตรัย ดั้งเดิมแล้วหมายถึงชุมชนสาวกที่ปฏิบัติตามคำสอนจนได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ได้ เพราะการเข้าถึงธรรมไม่จำกัดด้วยสถานะทางสังคมภายนอก (มหาปรินิพพานสูตร ข้อ 89) ต่อมาคำจำกัดความของพระสงฆ์นี้ถูกทำให้เป็น สมมติสงฆ์ ซึ่งหมายถึงพระภิกษุผู้ชายเท่านั้น แม้ท่านจะยังไม่บรรลุธรรมขั้นใดก็จัดให้ท่านเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย

ยังไม่มีการศึกษาว่าความหมายของพระสงฆ์แบบเดิมถูกทำให้ลืมไปได้อย่างไร แต่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า พระผู้ชายมีอำนาจในการยึดครองความหมายและตำแหน่งของพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยอย่างเต็มที่ คัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 500 ปี ได้เน้นย้ำสถานะที่สูงส่งของพระสงฆ์ผู้ชายอย่างชัดเจน นั่นคือ หากใครบรรลุอรหันต์แล้วไม่บวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนาจะต้องตายภายในวันนั้น เพราะสถานะฆราวาสต่ำเกินไปที่จะแบกรับคุณธรรมขั้นสูงได้ (คิหิอรหันตปัญหาที่ 3)

ความหมายของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาเถรวาทจึงถูกเปลี่ยนกลุ่มสาวกที่ปฏิบัติจนบรรลุธรรม มาเป็นพระสงฆ์ผู้ชายซึ่งทำหน้าที่นักบวชปกป้องดูและพระศาสนา และสถานะของท่านสูงส่งมาก เพราะเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย หากฆราวาสคนใดบรรลุอรหันต์แล้วไม่ยอมเข้าสู่สังฆะในนิยามของชนชั้นใหม่นี้ก็จะต้องตายไปในวันนั้น กล่าวได้ว่า คัมภีร์มิลินทปัญหาถูกแต่งขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่เถรวาท ซึ่งต่างกับมหายานที่ทุกคนเป็นพระโพธิสัตว์เสมอกัน

ในกาลามสูตรหรือเกสปุสสสูตร พระพุทธเจ้าเตือนว่ามิให้เป็นคนเชื่อง่าย ไม่เชื่อเพียงเพราะสิ่งนั้นอยู่ในคัมภีร์ ดูมีตรรกะ และไม่ควรรีบเชื่อเพียงเพราะผู้พูดเป็นครูของตน ท่านเสนอให้ต้องลงมือทำแล้วดูผลที่ได้รับ หากได้ผลดีจึงถือเอา แต่หากมีผลเสียก็ให้ทิ้งไป สำนักพุทธวจน ของวัดนาป่าพงอธิบายใหม่ว่า พระพุทธเจ้าเตือนไม่ให้เชื่อครู/สมณะคนอื่น แต่ให้หันมาเชื่อพระพุทธเจ้าคนเดียวเท่านั้น

เหตุที่ต้องเน้นเช่นนี้เพราะสำนักพุทธวจนเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสทุกอย่างไว้ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ตรงกันข้าม หากเป็นนักปราชญ์หรือครูท่านอื่นก็จะสอนด้วยความผิดพลาด สำนักนี้จึงยึดเอาบางประโยคของพระไตรปิฎกที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ดูกรภิกษุ เป็นต้นว่าเป็นคำของพระพุทธเจ้า (พุทธวจน) นั่นหมายความว่า ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำนี้ให้เชื่อและนำไปปฏิบัติเลย แต่ประโยคอื่นๆ รวมทั้งคำอธิบายของอาจารย์คนสำคัญให้ถือว่าไม่ควรรับฟังโดยประการทั้งปวงเพราะจะทำให้ศาสนาเสื่อม

มนุษย์จะเข้าใจข้อความใดได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ตีความผ่านประสบการณ์ของเขา ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจข้อความใดแบบบริสุทธิ์  กรณีของเกสปุสสสูตรชี้ชัดว่า สำนักพุทธวจนได้ตีความคำสอนด้วยวิธีของเขาเองซึ่งต่างจากสำนักอื่นๆ ที่เชื่อว่า ไม่ว่าจะสอนโดยพระพุทธเจ้าหรือใคร ก็ไม่ควรรีบเชื่อและไม่รีบปฏิเสธ แต่ต้องนำไปปฏิบัติดูก่อน เมื่อเห็นผลแล้วจึงรับเอง

การเน้นให้สาวกเชื่อในคำของพระพุทธเจ้า (ที่สำนักพุทธวจนตีความ) เป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ทำให้สำนักนี้เติบโต ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการบอกว่าพระไตรปิฎกส่วนอื่น (ที่ไม่ขึ้นต้นว่า ดูกรภิกษุ ฯลฯ) เป็นคำปลอมที่แต่งยัดใส่พระโอษฐ์ ไม่ต้องกล่าวถึงอรรถกถาหรือหนังสือยุคหลัง

ดูเหมือนว่า การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของสำนักพุทธวจนไม่จำเป็นต้องมีการแต่งคัมภีร์ใหม่ เพราะยังยึดทุกอย่างตามพระไตรปิฎก แต่แท้จริงแล้ว สำนักนี้ก็ยังสร้างตำราของตนขึ้นมาด้วยการคัดเอาเฉพาะประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ดูกรภิกษุเป็นต้นเท่านั้นมาจัดพิมพ์ใหม่โดยตัดส่วนอื่นๆ ทิ้งไป เพื่อสาวกจะได้อ่านเฉพาะคำของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสนาแท้ ไม่ต้องเสียเวลากับคำอื่นๆ ที่ปลอมใส่เข้ามา จึงสรุปได้ว่า อย่างไรเสีย การสร้างตำราเล่มใหม่ก็ยังจำเป็นอยู่ดีหากต้องการสร้างอัตลักษณ์หรือลัทธิใหม่ ซึ่งไม่ต่างกับการแต่งมิลินทปัญหาของชาวเถรวาท

นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะการแต่งคัมภีร์ขึ้นใหม่มีความสำคัญต่อการสร้างอัตลักษณ์เพื่อจำเเนกลัทธิของตนออกจากลัทธิอื่น เพราะหากศึกษาพระไตรปิฎกของทั้งเถรวาท มหายานและวัชรยาน คำสอนหลักๆ เช่น อนัตตา/สุญญตา ทางสายกลาง ขันธ์ห้า ฯลฯ ในสุตตันตปิฎกหรืออาคะมะล้วนคล้ายคลึงกัน (Bhikkhu Bodhi, 2005, pp. 5-7) แต่ละนิกายจึงต้องแต่งตำราใหม่ขึ้นเพื่อสร้างจุดเด่นของตนและชักชวนสาวกให้หันมาเชื่อ/ปฏิบัติตาม 

โดย ลลิตา ประทุมวงศ์
27 สิงหาคม 2561 

อ้างอิง
Bhikkhu Bodhi (Edt). (2005). In the Buddha’s Words: Am Anthology of Discourses from the Pali Canon. USA: Wisdom Publication.

คัมภีร์มิลินทปัญหา ไทย-บาลี. (2550). จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพุทธวงศ์มุนี (บุญมา ทีปธมฺโม). กรุงเทพฯ: บริษัทประยูรวงศ์พริ้นติ้ง.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2547). จาริกบุญจารึกธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์สวยจำกัด

No comments:

Post a Comment