ผมจะบรรยายถึงสิ่งที่ผมได้และไม่ได้จากการบวชอย่างเป็นรูปธรรม
สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น
ผมจึงไม่มีเจตนาที่จะสื่อว่าคนอื่นที่ได้ประสบสิ่งที่ต่างจากผมจะต้องผิดหรือเป็นการบวชที่ไร้สาระแต่อย่างใด
๑. ผมไม่เคยได้มรรคผลนิพพาน
แม้จะบวชเป็นพระเกือบทศวรรษ เวลาที่ผมตั้งใจปฏิบัติธรรมจริงๆ น่าจะประมาณ ๒ ปี
ผมเข้าพักตามวัดป่าและได้รับคำแนะนำจากพระวิปัสสนาจารย์หลายท่าน
(บางท่านชาวพุทธเชื่อว่าท่านเป็นอรหันต์แล้ว) ขณะปฏิบัติ
ผมเป็นหนึ่งในศิษย์ที่อาจารย์ชื่นชอบในความอุตสาหะ
แต่ท่านก็ไม่เคยพยากรณ์ว่าผมบรรลุขั้นไหน
ตอนนั้นผมเชื่อด้วยซ้ำว่าผมบรรลุแล้ว
ผมสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติได้อย่างละเอียด
(ซึ่งตอนนั้นผมเชื่อว่าถูกต้อง)
แต่ความเชื่อทั้งหมดก็สิ้นสุดลงเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทางโลกที่เป็น secular `มากๆ
นั่นไม่ใช่เพราะผมตบะแตกเพราะจีบสาว แต่เพราะการตรวจสอบตัวเองและตั้งคำถามกับทุกอย่างถูกบ่มเพาะขึ้น
จนพบว่าผมเป็นคนธรรมดาที่มีกิเลสมากคนหนึ่ง
แต่บทบาทของพระที่สอนสมาธิและองค์ความรู้ปริยัติที่มีบังตาผมไว้
"ขอบคุณอาจารย์เก่งๆ ที่มีกิเลสทั้งหลาย ที่ทำให้ผมตื่นครับ"
สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบคือ
เมื่อทิ้งการปฏิบัติธรรม โดยที่ผมเลิกเชื่อศาสนา
ไม่เชื่อเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ สิ่งนี้ทำให้ผมพยายามเข้าใจโลกมากขึ้น
และมองว่าความทุกข์ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่เห็นต้องไปหาทางแก้อะไรให้พิเศษเลย
กลายเป็นว่า สิ่งที่เข้ามาก็ไม่ใช่ความทุกข์อีกต่อไป
ผมไม่ได้อ้างว่านี่คือการบรรลุอีกแบบนะ เพราะผมไม่สนใจที่จะบรรลุ
และถ้ายังจะยืนยันตามหลัการพุทธ ผมคือคนมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งก็ยินดีรับครับ อิอิ
๒. ผมยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีพอ
คนที่บวชเป็นพระมานานน่าจะถูกคาดหวังว่าควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี
ผมคนหนึ่งที่อย่างน้อยควบคุมไม่ได้ในขั้นความคิด (ปริยุฏฐานกิเลส)
หลายครั้งผมอยากใช้มวยไทยที่เรียนมาเตะยอดหน้าอีกคนที่พูดไม่เข้าหูหรือคุกคามผมด้วยคำหยาบ
แน่นอนว่าผมคุมไม่ให้ไปทำร้ายร่างกายเขาได้
แต่ถือว่ายังไม่ผ่านหากใจยังฟุ้งซ่านปล่อยวางไม่ลง
แต่ผมก็ไม่คิดว่าผมมีกิเลสที่ต้องกำจัดเหมือนเมื่อก่อนนะ
แค่มันไม่พุ่งออกมาทางกาย ผมก็พอใจกับมันแล้ว และรู้สึกว่าการมีมันอยู่เป็นเพื่อน
ทำให้ชีวิตผมมีรสชาติ
กิเลสพวกนี้น่าจะเป็นตัวหล่อเลี้ยงและช่วยนิยามความเป็นมนุษย์ของผมครับ
๓. ผมไม่ได้เชื่อศาสนา
อันนี้สำคัญมากและอาจพอมองเห็นเค้ามูลได้จากสองข้อข้างต้น
ถึงแม้ไม่กล้ายืนยันว่าช่ำชองทุกศาสนา
แต่กล้าพูดว่าผมเรียนรู้มากพอที่จะเข้าใจระบบคิดของแต่ละศาสนา
สิ่งนี้ยืนยันได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านศาสนศึกษา
(ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์)
ดีใจมากที่สุดท้ายการเรียนศาสนาไม่ได้ทำให้ผมจงรักภักดีกับศาสนา
แต่ตั้งคำถามกับศาสนาแทน
สำหรับผม ศาสนามีประโยชน์ในหลายมิติ
จะใช้คำแบบอาจารย์ธเนศ วงศ์ฯ ก็ต้องพูดว่า มัน Function ในแง่ของมัน
ศาสนาช่วยให้คนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า
ศาสนาที่ถูกตีความผิดก็ทำให้สาวกรังเกียจคนที่คิดต่างได้เหมือนกัน
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมครับ
ปัญหาของผมคือ ผมเชื่อว่าศาสนา
(โดยเฉพาะพุทธ) เกิดขึ้นเพื่อเปลื้องพันธนาการของมนุษย์เพื่อให้เรามีเสรีภาพ
ดังนั้น เราจึงศึกษาศาสนาเพื่อเรียนรู้และพัฒนาเสรีภาพของเรา
ไม่ใช่ใช้ศาสนาเป็นพันธนาการตัวใหม่เพื่อรึงรัดเราและเชื่อว่า
เราบรรลุธรรมแล้ว/เป็นสัมมาทิฏฐิ/กำลังดำเนินไปสู่ทางสวรรค์
แต่ไม่มีศักยภาพที่จะตั้งคำถามกับคำสอน ไม่ยอมรับฟังความเชื่อที่แตกต่าง
และไม่พยายามหาเสรีภาพในแบบของตนเอง ได้แต่เดินไปตามทางที่เขาขีดไว้แล้วเท่านั้น
สรุปสั้นๆ ว่า การบวชเป็นเวลา ๘ ปี
ทั้งในระบบการเรียนปริยัติและการปฏิบัติไม่ได้ทำให้ผมเป็นศรัทธาชนผู้จงรักภักดีได้
นี่ไม่ใช่ความผิดของใครครับ
แต่เพราะมนุษย์มีธรรมชาติอันหนึ่งที่ต่างจากหุ่นยนต์คือ
พิจารณาก่อนที่จะทำตามข้อมูลที่ถูกใส่ให้ ดังนั้น
การที่ผมจะเป็นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ จึงไม่ควรโทษศาสนาหรือการเรียนครับ อิอิ
๔. ผมค่อนข้างสันโดษในด้านวัตถุ
อันนี้อาจถือเป็นข้อดีข้อเดียวที่ได้จากการบวช
การต้องกินอาหารบิณฑบาตที่เรากำหนดเองไม่ได้
น่าจะมีส่วนช่วยให้ผมเป็นคนกินอะไรก็ได้ ต่อให้ต้องซื้อกิน ก็ยังกินอะไรก็ได้
ลิ้นผมไร้ศักยภาพถึงขั้นที่แยกไม่ออกว่าแกงร้านนี้อร่อยกว่าร้านโน้น อิอิ
แม้แต่เสื้อผ้า การใช้ไตรจีวร (ผ้าพระ
๓ ผืน ซึ่งผมเพิ่มแค่สบงอีก ๑) ทำให้ไม่ได้ต้องการจีวรเพิ่ม
แต่ไหนแต่ไรผมจึงไม่เคยอยากแย่งจีวรใหม่ๆ กับใคร
ไม่ใช่เพราะเคร่งวินัยที่จะมีจีวรจำนวนมากไม่ได้
เเต่เพราะรู้สึกเสียเวลากับการเก็บรักษาเมื่อมีมากเกินจำเป็น
แม้ปัจจุบันจะใส่ชุดฆราวาสแล้ว
ผมก็ยังมีเสื้อผ้าจำนวนน้อยมาก มาอยู่อินโด ๑ เดือนซึ่งผ้าราคาถูก
ผมไม่เคยคิดจะไปหาซื้อมาเพิ่ม และไม่รู้สึกอายที่คนอื่นจะมองว่าทำไมมีผ้าน้อย
(เพราะผมซักทุกวัน อิอิ) นอกจากนี้ ผมไม่คิดว่าจะค้องซื้อไอโฟน แมคบุ๊ก เป็นต้น
แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจนะว่าความสันโดษนี้ได้มาเพราะบวชเป็นพระหรือเพราะยากจนกันแน่
อิอิ
ที่บอกว่าสันโดษด้านวัตถุ
เพราะผมยังไม่พอเรื่องเรียน ยังอยากเป็นนักวิชาการชื่อดัง ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ
พูดได้หลายภาษา เป็นคนมีความรู้และตรรกะดีที่เถียงกับใครก็ชนะ
สิ่งนี้ในแง่ศาสนาจัดเป็นกิเลสครับ เพราะศาสนาสอนให้ละกิเลส
แล้วทุกอย่างจะได้มาถ้าบรรลุธรรมพร้อมกับปฏิสัมภิทา
สิ่งที่นักศาสนาไม่เข้าใจนักวิชาการคือ
มองว่าเขากำลังเพิ่มพูนกิเลส ความรู้ทางโลกไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมได้
แท้จริงนักศาสนานั่นแหละที่พยายามแยกทางโลกออกจากทางธรรม เพราะความรู้ก็คือความรู้
ความรู้เป็นอันเดียวคือเกิดขึ้นแล้วทำลายความโง่เขลา (อวิชชา) นักวิชาการที่ดี
เขาไม่ได้เรียนเพื่อเอาเปรียบคนอื่น แต่อย่างน้อยที่สุด
ความรู้ใหม่ที่เขาได้มันช่วยทำลายความเขลาของเขา
ซึ่งเราจะมองว่าความรู้ทางโลกไม่สิ้นสุดก็ไม่เป็นไร
แต่อย่างน้อยชีวิตเขามีพัฒนาการนะ อิอิ
No comments:
Post a Comment