Thursday, December 13, 2018

ทำไมผมจึงไม่เชื่อศาสนา


ศาสนาเสนอวิธีใช้ชีวิตและตอบคำถามบางอย่างซึ่งพิสูจน์ด้วยตาเปล่าไม่ได้ เช่น โลกหน้า พระเจ้าฯลฯ ถ้านิยามให้ง่าย คนที่เชื่อศาสนา คือคนที่เชื่อว่าชีวิตไม่ได้สิ้นสุดแค่ตาย ดังนั้น เพื่อจะรับรองความปลอดภัยในโลกหน้า จึงต้องทำตามเงื่อนไขบางอย่างที่ศาสนาเสนอ แล้วเขาก็จะรอดจากความทุกข์ (นี่หมายถึงศาสนาใหญ่เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ไม่ใช่ศาสนาเล็กๆ เช่น เต๋าและขงจื้อ)


การที่คนจะไม่เชื่อศาสนา เพราะโลกหน้าหรือพระเจ้าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับผม หลายอย่างตอนนี้ผมยังพิสูจน์ไม่ได้เลย เช่น โลกกลม ผมไม่เคยใช้เครื่องมือพิสูจน์มัน เพียงแต่เชื่อเพราะวิทยาศาสตร์เจริญ กล่าวให้ชัดคือ การที่ผมเชื่อว่าโลกกลมและนายแดงเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะเราอิงตรรกะบางอย่าง ทั้งที่ยังไม่เห็นกับตา

ฉะนั้น การที่ผมเปลี่ยนมาเป็นคนไม่มีศาสนาไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านั้นพิสูจน์ไม่ได้ แต่เพราะผมเห็นว่า ศาสนามีไว้เพื่อศึกษาและเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้เชื่อ (for learning and understanding not for believing) และนี่คือความต่างระหว่างโลกวิชาการและโลกศาสนา แม้ทั้งสองจะเรียนศาสนาเหมือนกัน แต่มีเป้าหมายต่างกัน ขณะที่โลกศาสนาสอนเพื่อให้คน “เป็นคนดี” ในรูปแบบของเขา วิชาการสอนเพื่อให้เข้าใจที่มาและความเป็นไป ใครจะเชื่อหรือเป็นคนดีหรือไม่ เป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง

การเรียนศาสนาของเรามีปัญหา เพราะเราถูกบังคับให้นับถือศาสนาตามพ่อแม่ ถูกสอนอย่างคับแคบในโรงเรียน ทั้งที่จริง เราควรได้รับความรู้ของทุกศาสนาอย่างเพียงพอเสียก่อน และเมื่อโตขึ้นเช่น อายุ 12 ค่อยเลือกศาสนาด้วยตัวเอง นั่นคือ ควรเปลี่ยนวิชาศาสนาให้เป็นศาสนาเปรียบเทียบ (หากยังจะอยากให้มีวิชานี้ในโรงเรียน) เรียนเป็นประเด็นไป เช่น การกำเนิดโลก วิธีเข้าถึงสวรรค์ วิธีปฏิบัติต่อคนเห็นต่าง ว่าแต่ละศาสนาสอนอย่างไร หรืออาจเอาข้อเขียนของนักปราชญ์ของศาสนานั้นๆ ที่คิดว่าดีที่สุด มารวมเป็นเล่ม และให้เด็กเปรียบเทียบเอาเอง ว่าเขาชอบอันไหน

การไม่มีตัวเลือกให้ แต่ต้องเอาตามพ่อแม่ และเมื่อเข้าโรงเรียน ก็เน้นการเรียนในแบบความเชื่อตน (ที่ถูกยัดมาให้) จึงไม่ยุติธรรม เช่นเดียวกับการจะซื้อโทรศัพท์ ควรมีหลายยี่ห้อให้เลือก และระบุคุณสมบัติ มีคนเปรียบเทียบข้อเด่น ข้อด้อยไว้ให้ เพื่อพิจารณาแล้ว อะไรที่เหมาะกับการใช้งานและฐานะการเงิน เราก็จะเลือกอันนั้น ทำไมเราไม่ทำเช่นนี้กับศาสนา มีแต่ใช้วิธีบังคับเพราะกลัวจำนวนศาสนิกตัวเองจะลดลง และเมื่อมีคนเปลี่ยนศาสนาก็รังเกียจเขา ทั้งที่เขาแค่อยากทดลองย้ายค่ายเหมือนเปลี่ยนซิมโทรศัพท์ (อิอิ)

องค์กรพุทธที่ใหญ่ที่สุดของอินโดชื่อว่า Buddhayana เป็นการรวมเอาเถรวาท มหายาน และวัชรยาน เข้าด้วยกัน ในวัดนั้น ใครจะปฏิบัติแบบไหนก็เลือกได้ ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า Keluarga Buddhayana Indonesia (KBI) หรือ ครอบครัวพุทธยานแห่งอินโดนีเซีย เพื่อรวมเอาฆราวาสชายหญิงเข้ามาในองค์กรเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ชาวพุทธกลุ่มนี้จึงมีความรู้ในทุกนิกาย เพราะแต่ละวันอาทิตย์ (ไม่ใช่วันพระ) จะมีการสลับกันบรรยายธรรมจากนิกายต่างๆ

นี่เป็นความต่างระหว่างพุทธในอินโดกับพุทธไทย บ้านเราเน้นเฉพาะเถรวาท และไม่เปิดโอกาสให้นิกายอื่นเติบโต (รัฐธรรมนูญก็เจาะจงสนับสนุนเถรวาทเป็นหลัก) พระไทยแทบไม่มีโอกาสเรียนรู้นิกายอื่น นอกจากต้องไปหาความรู้เอาเอง และการสอนเพียงคำสอนเดียว ก็จะมาพร้อมกับการบอกว่า นิกายอื่นแย่ ไม่ใช่ทางที่แท้จริง คำสอนบิดเบือน ขณะที่อินโดมองว่าคำสอนใดที่มีประโยชน์ก็เอาไปปฏิบัติ เรียนเพื่อให้รู้ แต่พุทธไทยเรียนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ตัวเอง และปฏิเสธความเชื่อแบบอื่น

ไม่ใช่เฉพาะพุทธนะครับที่พยายามสอนว่าศาสนาอื่นๆ ผิด อิสลามก็บอกว่า นบีมูฮัมหมัดเป็นศาสดาคนสุดท้าย นั่นคือไม่ได้ปฏิเสธศาสดาองค์อื่น เพราะพระเจ้าจะส่งนบีมาหลายคนขึ้นอยู่กับช่วงเวลา แต่เน้นว่า อิสลามมีคำสอนที่สมบูรณ์ที่สุด ให้เราทิ้งความเชื่อเดิมแล้วมาเชื่อท่านนบี

การตีกินหรืออ้างว่าศาสนาตัวเองดีที่สุด เป็นธรรมชาติของทุกศาสนา เพื่อชักชวนให้สาวกใหม่เข้ามาเชื่อและเอาคำสอนไปปฏิบัติจนเกิดการตั้งชุมชนผู้ศรัทธาขึ้น พระพุทธเจ้าก็เกิดขึ้นในสังคมพราหมณ์และวิพากษ์สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย สิ่งที่ต้องทำให้มีคือ รัฐ Secular ที่คนเห็นต่างมีสิทธิพูดได้ ศาสดาเหล่านี้เติบโตได้เพราะไม่ถูกรัฐศาสนาทำร้าย นึกภาพว่า หากท่านเหล่านั้นไปเกิดที่อาเจะห์ มาเลเซีย และพม่าเป็นต้นซึ่งเป็นรัฐศาสนา ท่านอาจถูกจับไปลงโทษในฐานะที่สอนต่างจากความเชื่อเดิม

กล่าวคือ ศาสนาโตมาได้เพราะคนมีเสรีภาพในการเสนอต่างออกไป แต่น่าเสียดาย เมื่อกลายมาเป็นองค์กร สาวกพวกนั้นกลับอยากใช้อำนาจจัดการคนที่เชื่อต่างจากศาสนาตัวเอง พวกเขาลืมนึกถึงชีวิตศาสดาไปเพียงเพราะรักและอยากปกป้องศาสนามากจนเกินเหตุ

เพื่อนมุสลิมอินโดพยายามพูดให้ผมเชื่อพระเจ้า ยกตัวอย่างสารพัดตั้งแต่การสร้างโลก การส่งท่านนบี แต่สิ่งพวกนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้คับ ผมเลยยกตัวอย่างกลับไปว่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ในหมู่บ้านผมมีพระเจ้าลงมาสอนคน และบอกว่า ให้เลิกเชื่อศาสนาอิสลาม พุทธ และคริสต์นะ เพราะเป็นศาสนาที่เก่าแล้ว และพระองค์ก็ใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการสอนใหม่ เช่น

"ความเท่าเทียมของเพศหญิง-ชาย" เพศเป็นเพียงกายภาพที่ใช้ในการสืบพันธุ์เท่านั้น พระองค์ไม่ได้กำหนดเพศให้ตายตัว ใครไม่ชอบ จะเอาออกหรือดัดแปลงก็ได้ และพระองค์ก็ให้สิทธินั้นกับมนุษย์แล้ว กล่าวคือ พระองค์สร้างมนุษย์เพื่อให้เรียนรู้ที่จะรักและเคารพคนอื่น ไม่ใช่เพื่อให้เขาต้องพิสูจน์ว่าจงรักภักดีต่อพระองค์เท่านั้น

สำหรับพระองค์ เพศจึงไม่สำคัญ จะพูดว่าผู้หญิงใช้อารมณ์มากกว่าผู้ชาย (60 เท่า) ก็ไม่ถูก เพราะการใช้อารมณ์หรือเหตุผลขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ผู้หญิงไม่ต้องคลุมผมเพราะหากจะอ้างเรื่องการรักนวลสงวนตัว ผู้ชายก็ต้องคลุมและปกปิดร่างกายเช่นกัน การให้เพศหนึ่งทำและอีกเพศไม่ต้องทำเป็นความไม่ยุติธรรมในศาสนาของพระองค์ ผู้นำในแต่ละองค์กรจะเป็นเพศใดก็ได้ ให้วัดกันที่ความสามารถและการเลือกของคนส่วนใหญ่ ไม่มีใครมีบุญมากบุญน้อยกว่ากัน อยู่ที่การพัฒนาของแต่ละคน และพระองค์ตั้งชื่อศาสนาใหม่นี้ว่า “ศาสนาแห่งสิทธิมนุษยชน”

ผมถามเพื่อนว่า คุณเชื่อศาสนาใหม่ของผมไหม เพราะพระเจ้ามาประกาศแล้วว่า “สิ่งที่นบีทุกศาสนาสอนหมดอายุแล้ว” เพื่อนผมเถียงว่า ไม่เชื่อ “เพราะนั่นเป็นการกล่าวอ้างของผมเอง ท่านไม่ได้เห็นกับตา” คำถามผมคือ แล้วท่านเห็นกับตาหรอครับ ว่าพระเจ้าใช้ให้ท่านนบีมูฮัมหมัดมาสอนคน และบอกว่าคำสอนของนบีองค์อื่นก็หมดอายุแล้วเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองคือ ศาสนาเกิดขึ้นในที่ส่วนตัว แต่คนสอน (ท่านนบี และผมจากตัวอย่างข้างบน) กลับเอามันมาประกาศว่าเป็นศาสนาที่สากลและทุกคนควรเชื่อ

การไม่มีศาสนาของผม ไม่ได้หมายความว่าผมต่อต้านศาสนานะ เพราะการเรียนศาสนามามากกว่า 10 ปี น่าจะมีอิทธิพลอย่างมากในการใช้ชีวิตหรือโลกทรรศของผม แต่นั่นเป็นเพียงองค์ความรู้ที่เราเลือกรับและเลือกปฏิเสธ ซึ่งผมจะไม่ไปตีตราว่า นี่เป็นของศาสนาใด เพราะเป้าหมายของแต่ละศาสนาก็สอนเพื่อให้คนเอาไปใช้ จะมากหรือน้อยเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่มันมาผิดพลาดในยุคที่องค์กรศาสนาเติบโต องค์กรพวกนี้ไปละเมิดชีวิตคนอื่น พยายามยัดเยียดความเชื่อให้ หรือไปนิยามเขาว่าเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อดึงมาเป็นพวกตน

ฉะนั้น ผมจึงไม่สนใจว่าใครจะเสนอคำสอนที่มีเหตุผลหรืองมงาย เพราะการเชื่อว่าโลกกลมของผมก็งมงาย ถ้าพูดอย่างถึงที่สุด ผมรักและเคารพศาสนามากกว่าคนที่อ้างว่าเป็นศาสนิกที่จงรักภักดีต่อศาสนาเขาอีกนะ เพราะเขาจะมีมุมที่รังเกียจศาสนาอื่นอยู่ตลอดเวลา (และไม่อยากศึกษาศาสนาอื่นด้วย) งานเขียนผมจึงไม่ใช่การวิพากษ์คำสอนศาสนา แต่เน้นไปที่รูปแบบองค์กรและศาสนิกที่เอาเปรียบและทำลายสิทธิของผู้อื่น

ผมคิดว่า โลกนี้จะน่าอยู่มากขึ้น ถ้าเรามองศาสนาเป็นเพียงองค์ความรู้ที่แต่ละศาสดาเสนอ เลือกศึกษา เลือกหยิบมาใช้ อันไหนเหมาะก็รับเอา ไม่เหมาะก็ทิ้งไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างองค์กรมาปกป้องความเชื่อของตน เพราะการปกป้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เท่ากับการต้องช่วยทำลายสิ่งอื่นและเบียดขับไม่ให้เข้ามาในปริมณฑลของตัวเองด้วย เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ ท้ายที่สุด กลายเป็นการปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ของตัวเอง

เจษฎา บัวบาล
14 ธันวาคม 2561

ขอบคุณภาพจาก https://www.buddhistdoor.net/features/one-face-of-liberation-buddhist-feminism-in-japan

No comments:

Post a Comment