ศาสนาดำเนินมาได้เพราะใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน
และไม่เคยมีปรากฎว่าศาสนิกกลุ่มใดปฏิเสธการรับเงินบริจาค แม้จะไม่รับในนามปัจเจก
แต่ก็รับในนามองค์กร ไม่ขอเงินบริจาค แต่ขายหนังสือธรรมะ ยิ่งกว่านั้น คนรวยมีโอกาสในการทำบุญมากกว่าคนจน
เงินสามารถชื้อภาพลักษณ์ความเป็นคนดีได้ เงินยังเอื้อให้คนเข้าถึงความรู้ทางศาสนาที่ดีและเปิดโอกาสในการปฏิบัติธรรมได้มากกว่าคนจนที่ต้องคลุกกับการงานที่เหน็ดเหนื่อยทั้งวัน
การซื้อเนื้อมากินของคนพุทธและอ้างว่าตนไม่มีส่วนในการฆ่า
(ศีลข้อปาณาติบาต) เป็นตัวอย่างที่ชัดมากว่า การมีเงินซื้อภาพลักษณ์ได้
สำหรับพวกเขาแล้ว เจ้าของธุรกิจและคนฆ่าปลาเท่านั้นที่เป็นคนบาป ถ้าถามง่ายๆ ว่า เงินซื้อปลาราคา
30
บาท เราซื้ออะไร? คำตอบคือ เราจ่ายค่าจ้างคนออกเรือ ค่าน้ำมัน
อุปกรณ์ในการจับปลา พ่อค้าคนกลางและค่าเช่าที่ขายปลาเป็นต้น พูดให้ตรงคือ
เราจ้างคนฆ่าแทนเราและให้นำปลานั้นมาจนถึงตลาด
ในสายตาคนไทย คนที่มีเงินซื้อปลาจึงไม่มีส่วนบาป
คนจนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ออกเรือ จับปลา เท่านั้นที่เป็นคนชั่ว เหตุผลนี้ใช้ได้จริงและเขารอดจากการผิดศีลธรรมได้เพียงเพราะไม่ฆ่าและสั่งให้ฆ่าโดยตรง
ฉะนั้น การมีฐานะที่ดีระดับหนึ่งช่วยล้างบาปให้เขาได้
โดยที่คนจนผู้ต้องจับหรือฆ่าปลากินเองหนีไม่พ้นบาปข้อนี้ เห็นไหมครับว่า
เงินซื้อสวรรค์ได้
ผมเคยร่วมงานอบรมบาลีในกรุงเทพฯ เนื่องจากต้องเลี้ยงอาหารพระเณรราว
200
รูป วัดจึงเปิดโอกาสให้ผู้คนจองเป็นเจ้าภาพอาหารแต่ละมื้อ
การเป็นเจ้าภาพก็แค่บริจาค/โอนเงินจำนวน 8,000 บาทให้วัด
ส่วนการปรุงอาหาร ทางวัดจะจ้างแม่ครัวทำเอง ในวันนั้น
เจ้าภาพแค่เดินทางมากรวดน้ำรับพร โดยไม่ต้องเหนื่อยอะไรมาก
เห็นไหมครับว่า
เงินสามารถซื้อบุญได้อีกแล้ว นี่ไม่ใช่ความผิดของศาสนา แต่เป็นสัจธรรมที่ว่า
หากเขามีเจตนาในการบริจาค ช่วยเหลือผู้อื่น สิ่งนั้นก็เป็นการกระทำที่ดี (หรือบุญ)
ได้จริง ไม่ต่างกับชาวบ้านที่หิ้วปิ่นโตไปวัดในวันพระ เขาต้องซื้อข้าว แกง ขนม ผลไม้ฯลฯ
บุญที่จะได้มาต้องแลกด้วยเงินครับ
คนรวยเข้าถึงธรรมะได้มากกว่า
อุบาสิกาวิสาขาและเศรษฐีอนาถปิณฑิกะ
เป็นบุคคลตัวอย่างของฆราวาสผู้สนับสนุนพุทธศาสนา
โดยเฉพาะคนหลังนี้ถึงกับเอาเงินทองมาปูเพื่อซื้อที่สร้างวัดเชตวัน
แม้จะยากจนถึงขั้นกินน้ำผักดองก็ไม่เลิกศรัทธาในพุทธศาสนา สิ่งนี้สะท้อนว่า
เราไม่ควรด่าธรรมกายที่บอกให้คนทำบุญมาก
เพราะตัวอย่างที่ธรรมกายใช้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาจริงๆ ถ้าธรรมกายเพี้ยน
พุทธศาสนาก็เพี้ยนครับ อิอิ
จริงๆ แล้ว ศาสนาเติบโตเพราะคนรวย
คนเหล่านี้ช่วยในการสร้างวัด
ซึ่งเอื้อต่อการรวมกลุ่มของพุทธบริษัทและง่ายต่อการเผยแพร่คำสอน
เมื่อเทียบกับพระต้องอยู่แบบปัจเจกในป่า ต่อให้อ้างว่า
ศีลและภาวนามีผลมากกว่าการบริจาคทาน
แต่ทานที่เป็นวัตถุหรือเงินก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน เช่น
พระของสันติอโศกไม่รับเงินในแง่ปัจเจก
แต่ยังต้องการเงินจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนบุญนิยมทีวีและโครงการต่างๆ
พูดให้ง่ายคือ หากไม่มีคนรวยช่วย
ศาสนาอยู่ยากมาก เห็นไหมครับว่า ความรวยมีส่วนช่วยให้ขึ้นสวรรค์มากแค่ไหน
ในแง่เป้าหมายสูงสุดของศาสนาหรือวิปัสสนา
อาจแย้งว่าไม่ได้ตัดสินกันที่ฐานะความยากจนร่ำรวย (ทุกศาสนาพูดเช่นนี้)
แต่คนมีเงินเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าถึงหนังสืออันเป็นแหล่งความรู้ที่จริงแท้ได้
คนจนจำนวนมากต้องอยู่กับพิธีกรรมแบบพุทธปลอมๆ และการไหว้ผีที่พุทธแท้รังเกียจ
การไปวัดเพื่อฟังธรรมหรือเข้าถึงวิทยากรที่มีความรู้
ตลอดจนเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมก็ใช้เงินอีกเช่นกัน ต่อให้ฟรี ก็มีค่าพาหนะ ค่าทำบุญ
ค่าซื้อชุดขาว
และคนรวยหรือพอมีฐานะเท่านั้น
ที่จะมีเงินสำรองมากพอจนสามารถหยุดทำงานหาเลี้ยงชีพ
และเข้าร่วมคอร์สปฏิบัติธรรมหรือเดินจาริกแสวงบุญเพื่อการตื่นรู้เป็นต้นได้
กล่าวคือ ถ้าเป็นคนจน
ก็จะใช้ชีวิตในนา ปลูกผัก จับปลา ทำงานโรงงาน รับจ้าง ขายของข้างทาง
โอกาสที่จะได้หาความรู้อภิธรรม เข้าถึงหนังสือพุทธทาส ปยุตโต หลวงตามหาบัวฯ หรือมีเวลาอ่าน
ตลอดจนทำใจให้นิ่ง รู้ทันสภาวะเกิดดับของอารมณ์ก็ยากขึ้น
เพราะภาระการงานที่หนักและสภาพแวดล้อมไม่เป็นกัลยาณมิตร (สัปปายะ) ยังจะเถียงไหมครับ
ว่าความรวยเปิดโอกาสให้เข้าสวรรค์หรือนิพพานมากกว่า?
ถ้าไม่แน่ใจ ลองดูประวัติพระสาวก 80
รูป และภิกษุณีว่าผู้ที่บรรลุอรหันต์และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่มาจากวรรณะไหน
รวยหรือจน
ที่กล่าวมานี่เป็นเพียงมิติหนึ่งของการตีความศาสนาที่พบในบ้านเรา
ผมไม่ได้แย้งว่าคนจนขึ้นสวรรค์หรือนิพพานไม่ได้ แค่เสนอว่า คนรวยซื้อความสะดวกสบายและโอกาสในการเข้าถึงได้มากกว่า
ไม่เพียงแต่ธรรมะในแง่องค์ความรู้หรือสภาวะภายในเท่านั้น
แต่กรณีของการมีเงินซื้อปลาเป็นต้น
ก็ช่วยให้ขึ้นสวรรค์ได้โดยไม่ต้องละเมิดศีลข้อแรก (ตามการตีความของคนไทย)
ขณะที่คนจนซื้อสวรรค์และนิพพานเช่นนี้ไม่ได้
เราควรเลิกดูถูกเงินเพื่อจะชำระศาสนาให้สะอาด
ศาสนาที่เป็นองค์กรแล้วจำต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน ไม่ว่าของพระหรือฆราวาส
(ต่อให้พระไม่รับเงิน ก็ต้องมีคนมารับแทน) ที่สำคัญ เลิกพูดว่า “แม้มีเงินก็ไม่มีความสุขหากไม่มีจริยธรรม”
เพราะไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ความสุขภายในได้ว่าคนรวยสุขน้อยกว่าคนจน
แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้กับตาคือ
คนรวยที่เข้าถึงอาหาร การศึกษาและโรงพยาบาลดีๆ มีชีวิตที่ดีกว่าคนจนที่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกินและไม่ทราบว่าหากป่วยจะต้องรักษาตัวอย่างไร
เจษฎา บัวบาล
19 ธันวาคม 2561
ภาพจาก https://isha.sadhguru.org/yoga/meditations/science-of-meditation/
No comments:
Post a Comment