Sunday, December 30, 2018

ทำความรู้จักทุน Darmasiswa




ทุนนี้เป็นของรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้กับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อเรียนภาษาอินโดฯ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเป็นเวลา 1 ปี โดยประเทศไทยได้ปีละประมาณ 60 คน  ซึ่งถือว่าโอกาสในการได้รับทุนมีมาก เงื่อนไขพื้นฐานคือ อายุไม่เกิน 35 ปี และควรเป็นนักศึกษา หรือเพิ่งสำเร็จการศึกษา


ทำอย่างไรให้ได้รับทุน
การให้ทุนพิจารณาจากการเขียนบทความ 1 หน้า เป็นภาษาอังกฤษ หรืออินโดฯ ก็ได้ ผมเองเขียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะเหตุผล 2 อย่างคือ (1) ภาษาอินโดในขณะนั้นยังไม่ดีพอ หรือต่อให้เพื่อนช่วยเช็คไวยากรณ์ให้จนกลายเป็นบทความที่ดี ผมก็กลัวผู้ให้ทุนจะคิดว่า “ในเมื่อภาษามึงดีอยู่แล้ว มึงจะมาเรียนอีกทำไมแวะ”

(2) เพื่อโชว์ความสามารถด้านภาษาอื่นๆ เพราะอย่างน้อยการได้ภาษาอังกฤษจะยืนยันว่าเราสามารถเอาตัวรอดได้ และสิ่งนี้ใช้ได้จริงเมื่อมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมบรรยายเรื่องวัฒนธรรมในเดือนแรกที่อยู่อินโด ผมถูกเชิญให้บรรยายเรื่องวัฒนธรรมไทยแก่ นศ. ป.ตรี ภาษาที่ใช้คือ อินโดฯ แต่คำไหนที่นึกไม่ออกก็ทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปได้เลย ซึ่งผู้ฟังก็เข้าใจ

แต่.. เพื่อนผมหลายคนที่เขียนด้วยภาษาอินโดก็ได้รับทุน แสดงว่า น่าจะอยู่ที่กึ๋นอย่างอื่น เหตุผลสองข้อของผมอาจผิด (อิอิ แล้วจะเขียนมาทำไมเนี่ย)

ขั้นตอนต่อไปคือ ทุกคนที่สมัคร จะถูกเรียกไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตฯ หรือ สถานกงสุนฯ สงขลา (ขึ้นอยู่กับว่า เราระบุที่ไหนขณะสมัคร) การสัมภาษณ์ใช้เวลาราว 10 นาที (ซึ่งใช้เวลานั่งรอ 3 ชม.) คำถามเบื้องต้น ซึ่งน่าจะเหมือนกันทุกคนคือ ทำไมอยากเรียนภาษาอินโด? คิดว่ากลับมาไทยแล้ว จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์จากการเรียนได้?

การตอบก็ไม่ต้องพูดมากครับ แค่ระบุประเด็นให้ชัด ที่จริงเราอาจเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ในบทความที่ส่งไปเลย เช่น อยากทำธุรกิจกับอินโดฯ อยากเรียนต่อในสาขานั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ภาษาอินโดฯ อยากสอนภาษาอินโดในไทยฯลฯ

ผมตอบไปว่า ผมกำลังทำวิจัยในอินโด ซึ่งปกติเจาะจงในกลุ่มคนจีน (แทบไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอินโด เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้) แต่อนาคตจะขยายเป็นคนอินโดทั่วไป จึงจำเป็นต้องเรียนภาษา แน่นอนว่า ไม่ใช่พูดไปเรื่อยนะครับ ควรมีหลักฐานบางอย่างปรากฏใน CV ที่แนบด้วย เช่น ผมมีงานนำเสนอและบทความตีพิมพ์เกี่ยวกับงานวิจัยในอินโดจริงๆ

แต่ทั้งนี้ คนที่ไม่มีผลงานพวกนั้นก็ไม่ต้องกลัว น.ศ. ป.ตรีส่วนใหญ่อาจไม่มีผลงานวิชาการ แค่เคยเป็นอาสาสมัครช่วยงานมหาลัยก็ใช้ได้ แสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนปรับตัวเก่ง เข้ากับคนอื่นได้ มีความตั้งใจอยากเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม ส่วนกลับมาแล้วจะทำอะไร ... ก็เอาตัวรอดเอาเองแล้วกันครับ อาจโกหกก็ได้ แต่ให้ส่อแววว่า น่าจะทำได้จริง (อิอิ) ทำหน้าตาให้น่าสงสารเข้าไว้ .. ออ คนสัมภาษณ์ เป็นคนอินโดนะ เราจะใช้ภาษาอังกฤษหรืออินโดก็ได้

ต้องเข้าใจว่า หน่วยงานราชการต้องการอะไรที่เป็นรูปธรรม เขาจึงจะมั่นใจและให้ทุน ผมเชื่อว่า ถ้าเราอ้างเหตุผลในการไปเรียน ทำวิจัย และชี้ให้เห็นความสำคัญ โอกาสได้มีสูงมาก (แนบผลงานวิชาการที่มีอยู่จริง) ส่วนคนที่ไปด้วยเหตุผลเพื่อหาประสบการณ์ อยากรู้จักเพื่อนใหม่เป็นต้น อาจเสี่ยงนิดๆ ที่เสี่ยงเพราะเด็กจำนวนมากอ้างเหตุผลนี้ครับ คู่แข่งเลยเยอะ แต่ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ อีก ซึ่งผมไม่ทราบ (อิอิ)

ออ .. คนที่อยากเรียนต่อ ป.โท ในอินโด ก็มีทุน KNB ให้เช่นกัน ลองเข้าไปดูในเว็บ www.knb.dikit.go.id แต่ถ้าใครอยากเรียนโท ลองขอทุน Darmasiswa นี้ก่อนก็ได้ครับ ถือว่าเตรียมความพร้อมด้านภาษาและหาประสบการณ์ใหม่

เลือกมหาวิทยาลัย
อันนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการสมัคร ควรเลือกมหาวิทยาลัยที่ดี เพราะชีวิตเราจะไปจมปลักอยู่ที่นั่นหนึ่งปี อาจเริ่มจากการเลือกเมืองที่เราชอบ หรือมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อก็ได้ แน่นอนว่า ต่อให้เราไปเรียนแค่ภาษาอินโด วันละ 3 ชม. แต่เวลาว่างส่วนใหญ่ เราอาจเข้าห้องสมุด เข้าร่วมฟังบรรยายห้องอื่นๆ ตามแต่สมัครใจ มหาลัยที่ดี จะเอื้อต่อการพัฒนาเรื่องพวกนี้ด้วยครับ นั่นหมายความว่า ถ้าเลือกผิด อาจได้มหาลัยที่ห้องสมุดสกปรก ไม่มีหนังสือใหม่ หรือไม่มีต้นไม้ อากาศร้อนเป็นต้น

และคนที่อยากแต่งตัว แต่งหน้า ใส่สั้น มีอิสรภาพมากหน่อย ก็ควรเลี่ยงมหาลัยเอกชนของศาสนา เพราะมหาลัยเหล่านี้จะมีกฏรัดกุมกว่าที่อื่นๆ (ป.ล. แต่มีข้อยกเว้นอีก เช่นมหาลัยศาสนาบางที่ค่อนข้างหัวก้าวหน้า) แล้วแต่เป้าหมายนะครับ ผมเอง สนใจทำวิจัยเรื่องศาสนา จึงเลือกมหาลัยศาสนาที่เคร่งครัดถึงขั้นเอานักศึกษาแพทย์ ปี 1 ไปอมรมจริยธรรมและบังคับ นศ.ชายโกนผมทุกคนฯลฯ และผมก็ได้ประเด็นเยอะมากที่จะเขียนงานวิจัยในอนาคต

วิธีการเลือกคือ เข้าดูเว็บไซด์ของมหาวิทยาลัย ดูทุกอย่างให้ละเอียดที่สุด กระทั่ง Google Map เพื่อให้เห็นภาพบรรยากาศ และอ่านคอมเม้นท์ ตลอดจนเข้าดูเฟสบุคเพจว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง (ป.ล. อินโดมักใช้อินสตาแกรมมากกว่าเฟสบุค ฉะนั้น จงตามไปดูที่นั่น) แต่ถ้าใครขี้เกียจและรับได้กับทุกสภาพปัญหา คิดว่าทุกอย่างแล้วแต่พระเจ้าจะประทาน ก็ไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องนี้คับ

เงินที่ได้
เงินเดือนที่ได้ ขึ้นอยู่กับเมืองที่เราเลือก (เราจะเห็นอันนี้ตั้งแต่เข้าเว็บสมัคร) อยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาท ซึ่งเพียงพอ ผมจ่ายค่าหอเดือนละ 1200 ซื้อเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวเดือนละ 2,000 ซื้ออาหาร 2,500 (ซึ่งถือว่าอุดมสมบูรณ์ เพราะที่นี่อาหารถูก) และอาจไปเที่ยวเมื่อมีโอกาส ปัจจุบันผมเหลือเก็บเดือนละ 1,000 บาท

ลืมบอกว่า เขามีอังเปาแจกเมื่อเดินทางถึงจาการ์ต้า ด้วยการเปิดบัญชีให้เรา ในนั้นมีเงินอยู่ หนึ่งล้าน “รูเปียห์” หรือราว 2,300 บาท พร้อม ATM และประกันสุขภาพ (เงื่อนไขในการรักษา เขาจะชี้แจงในวันปฐมนิเทศ แต่มันเยอะมาก จนผมจำไม่ได้ และไม่มีโอกาสป่วยจนต้องใช้มันคับ อิอิ) ยังมีบัตรชำระค่าโดยสารรถสาธารณะด้วย แต่อันนี้ใช้ได้สำหรับคนที่อยู่ในจาการ์ต้าคับ พวกเราซึ่งเลือกมหาลัยบ้านนอกไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะคนขับรถม้าเขาไม่รับบัตรนั้น อิอิ

สิ่งที่คับข้องใจ
จะมีการปฐมนิเทศที่จาการ์ต้าร่วมกัน ซึ่งมีผู้รับทุนจากทุกประเทศราว 600 คน ข้อดีของงานนี้น่าจะมีอย่างเดียวคือ มีโอกาสจีบสาวสวยต่างชาติ แต่เรื่องอื่นๆ เช่น การเดินทางในจาการ์ต้าซึ่งรถติดมาก และกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างน่าเบื่อทั้งวัน เป็นสิ่งที่ต้องทนครับ แต่ทั้งนี้ เราจะลงทะเบียนเสร็จ แล้วหนีไปนอนก็คงได้ หรือขณะเต้น ใครที่ขี้อายก็ทำเป็นท้องเสีย ไปนั่งเล่นโทรศัพท์ในห้องน้ำ หรือคุยกับญาติ ก็แล้วแต่มารยาที่ฝึกมาครับ แต่ย้ำว่า มันน่าเบื่อจริงๆ อิอิ   

อีกอย่าง พอไปอยู่ในมหาลัย เขารู้ว่าเราเป็นนักเรียนต่างชาติก็อยากเข้ามาคุย จนเสียเวลาครับ หลายครั้งผมเลือกที่จะไม่ออกจากห้อง (หากมีงานต้องทำ เพราะมิฉะนั้นจะเสียเวลามาก) ช่วงหลัง เมื่อเพลงครางชื่ออ้ายดังในอินโด เดินไปไหนก็มีคนแซวผมว่า อ้าย ๆๆๆๆๆ อุ๊ย ๆๆๆๆๆ แต่ผมก็ภูมิใจกับการมีบรรพบุรุษอยู่เขาอัลไตนะครับ (จะบ้าตาย)
  
บทส่งท้าย
อยากให้ลองสมัครดูครับ แม้ไม่มีเป้าหมายอะไรมาก การได้มาใช้ชีวิตในประเทศอื่นจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเรา ไม่ต้องกลัวว่าเราไม่ใช่มุสลิมและเขาจะไม่รับ เพราะเขาไม่ได้ตัดสินผ่านศาสนา และการกลัวว่าเราจะไม่ได้ เป็นการตัดโอกาสหลายอย่างไปเลย อย่างน้อยการสมัครจะทำให้เราชินกับการเขียนบทความ การเตรียมเอกสารและสัมภาษณ์ ไม่มีใครได้ทุกอย่างหรอกครับ คนที่เราเห็นว่าเขาได้ทุนโน่นนี่ เขาอาจจะสมัครเป็น 10 ที่ก็ได้ นั่นหมายถึง เขาพลาดตั้ง 9 ที่ (อิอิ)


เปิดรับสมัครออนไลน์ตลอดทั้งปี ในเว็บ www.darmasiswa.kemdikbud.go.id ครับ

“โอกาสเป็นของคนที่แสวงหา”  
เจษฎา บัวบาล
30 ธันวาคม 2560
  
 ภาพจาก https://www.thejakartapost.com/travel/2018/02/01/monthly-destination-bali.html

No comments:

Post a Comment