วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นสำนักเรียนบาลีที่มีชื่อเสียงของไทย
มีการพูดจนชินหูว่า “อยากเป็นนักเทศน์ให้อยู่วัดประยูรฯ อยากเป็นมหาให้อยู่วัดสามพระยา”
ปัจจุบันวัดนี้ยังเป็นแหล่งการเรียนการสอนและอบรมบาลีที่ขึ้นชื่อ
โดยเฉพาะประโยคสูง คือ 7-8-9
ระยะเวลาที่ผมพักวัดนี้นานที่สุดคือ 1
เดือน ช่วงอบรมบาลีก่อนสอบ เดือนธันวาคม ปี 2560 ระยะเวลาสั้นๆ นี้จึงไม่สามารถอ้างได้ว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการหรือการเรียนการสอนของวัดเป็นอย่างดี
แต่สิ่งหนึ่งที่พอทราบคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างพระนักศึกษากับวิหารพระนอน”
วิหารนี้ตั้งอยู่หน้าตึกสุหัสรังสรรค์
ซึ่งเป็นอาคารเรียน และผมเข้าไปนั่งอ่านหนังสือหลังพระนอนบ่อยครั้ง (เพราะผมไม่ได้ห้องพัก
ต้องนอนข้างห้องน้ำชั้น 2 และร้อนมากในช่วงกลางวัน
ไม่เหมาะกับการอ่านหนังสือ) จะตั้งใจฟังหรือไม่
ผมก็ได้ยินเสียงพระที่เข้ามาสวดมนต์และขอพรบางอย่างจนชินหู นั่นคือ “ขอให้กระผมสอบผ่านในปีนี้”
แน่นอนว่ามีพระเณรจำนวนมากที่ไม่พูดคำอธิษฐานนี้ออกมา แต่ก็พอเดาได้ว่า หลายท่านน่าจะมีความปรารถนาที่คล้ายๆ
กัน (การเรียนและหวังให้สอบผ่าน ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก)
เพราะเป็นที่รู้กันของพระนักศึกษาว่าวิหารพระนอนมีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านการดลบันดาลให้สอบบาลีผ่าน
ถ้าถามกันตรงๆ ว่าท่านเชื่อจริงๆ หรือ ว่าการขอเช่นนี้จะทำให้สอบผ่าน? คงไม่ต้องสงสัยว่า
พระเณรที่ผ่านการเรียนศาสนามาถึงขั้นประโยคสูงเช่นนี้ต้องปฏิเสธ และบอกว่า “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพยายามและบุญ”
ที่ยังไม่ทิ้งเรื่อง “บุญ”
เพราะพระไทยเชื่อจริงๆ ว่าบุญเป็นตัวแปรสำคัญ
ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่สำเร็จหากไม่มีบุญเสริม เพราะทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ (มังคลัตถทีปนี)
อย่างน้อยที่สุด ต่อให้ไม่เชื่อว่า พระนอนจะช่วยบอกข้อสอบบาลีให้ แต่การกราบพระหรือทำความดี
ก็เป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลเมื่อมีโอกาส
ฉะนั้นจึงไม่ควรประมาทกับการทำความดีเช่นนี้ (อิอิ ขอโทษที่หัวเราะ)
ส่วนหนึ่งที่เราเชื่อว่า “บุญ”
จะทำให้สอบผ่าน เพราะการสอบบาลีใช้ “คน” ในการตรวจข้อสอบ ซึ่งมีชีวิตจิตใจ
เพื่อนผมบางคนก่อนส่งข้อสอบ นั่งแผ่เมตตาให้กรรมการตรวจด้วย เพราะหวังว่า กรรมการท่านที่ได้ข้อสอบนี้ไป
ขณะตรวจจะมีจิตเมตตาและไม่เคร่งครัดจนเกินไป (อิอิ ขออภัยอีกครั้งที่หัวเราะ
แต่นี่เป็นเรื่องจริงนะ) ฉะนั้น
การจะเชื่อว่าพระนอนในวิหารจะช่วยส่งผลด้านนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
ผมเคยเสนอในบทความเรื่อง “การสอบบาลีสนามหลวงบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือ”
ว่า การตรวจข้อสอบด้วยคน เป็นวิธีที่รับรองมาตรฐานยาก เพราะแต่ละช่วงเวลา ความรู้สึกของคนตรวจต่างกัน
(ไม่ต้องพูดถึงกรณีที่คนตรวจเป็นคนละคนด้วยซ้ำ) ฉะนั้น
จึงพบว่าบางคนที่ไม่น่าจะผ่านกลับสอบผ่าน และบางคนที่น่าจะผ่านกลับสอบไม่ผ่าน
นี่ไม่ใช่ความทุจริตของกรรมการตรวจ แต่เพราะมนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเป็นอนิจจลักษณ์
มาตรฐานในแต่ละช่วงเวลาจึงต่างกัน
ศาสนาดำรงอยู่ได้เพราะความไม่ชัดเจนเช่นนี้แหละครับ
ความเชื่อเรื่องบุญ กรรม เป็นต้นจึงทำงานได้ หากทำให้การสอบมีมาตรฐานที่ชัดเจนจนทุกคนยอมรับเช่นเดียวกับการสอบ
Toefl
คนก็จะหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลน้อยลง เพราะเทใจไปเลยว่า การสอบผ่านขึ้นอยู่กับความรู้เท่านั้น
ไม่เกี่ยวกับการผิดศีลหรือทำบุญ กล่าวให้ชัดคือ ยิ่งทำการสอบให้มีมาตรฐานชัดเจน
ความคลุมเครือก็จะหายไป และความเชื่อทางศาสนาก็จะถูกบั่นทอนลง
เทียบให้ง่ายคือ
หากรัฐมีสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงเสมอกัน
เมื่อคนจนป่วยก็ได้รับการดูแลเท่ากับคนรวย โรคก็จะถูกรักษาให้หายอย่างเสมอกัน
ความเชื่อเรื่องบุญหรือกรรมเก่าก็จะลดลง แต่การที่ทำให้คนจนเข้าไม่ถึงการแพทย์ที่ดี
ความเชื่อเรื่องบุญกรรมก็จะเข้มข้นขึ้น นายแดงต้องตายเพราะไม่มีเงินรักษา นั่นเพราะเขาทำกรรมชั่วมามาก
กรรมเรื่องปาณาติบาตจึงส่งผล
ผมเชื่อว่า ปรากฏการณ์ที่พระเณรเข้าไปไหว้พระนอนและขอพรให้ตนสอบผ่าน
เป็นการสะท้อนถึงความคลุมเครือในกระบวนการตรวจข้อสอบ
แม้กระบวนการสอบจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ยังต้องมีความหวังอยู่ตลอด ตั้งแต่หวังให้ผู้คุมสอบจัดเรียงกระดาษคำตอบของตนอย่างถูกต้อง
(ไม่ดึงแผ่นใดแผ่นหนึ่งออก) หวังให้ข้อสอบของตนไปตกอยู่กับคนตรวจที่ใจดี
ตลอดจนหวังให้คนรวบรวมรายชื่อผู้สอบผ่านไม่ทำรายชื่อของตนตก (หากสอบผ่านแล้ว) บุญจึงจำเป็นในทุกขั้นตอน
ที่ต้องหวังพึ่งบุญเช่นนั้น เพราะกรณีที่สอบไม่ผ่าน
ก็ต้องก้มหน้ารับกรรมต่อไป ยากมากที่จะท้วงและขอให้ตรวจข้อสอบใหม่ เพราะการทำเรื่องขึ้นไปตั้งแต่จังหวัดเป็นเรื่องลำบากและรบกวนพระเถระ
ตัวอย่างนี้ปรากฏเมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งสอบประโยค 3 มาหลายปี และมั่นใจอย่างมากว่าตนต้องสอบผ่าน
แต่เมื่อผลออกมาว่าไม่ผ่านก็ปรึกษาเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม “แฟนพันธุ์แท้พระบาลี”
เพื่อนๆ ได้ให้คำแนะนำว่า “ท่านอาจทำข้อสอบพลาดเองโดยไม่มีสติ
แต่กรรมการตรวจท่านมีสติและทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว” บ้างก็บอกว่า “ให้เรียนเพื่อรักษาศาสนา
อย่าหวังลาภยศหรือแม้แต่การสอบได้” คอมเม้นท์เช่นนี้สะท้อนชัดว่า
หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ตรวจ แต่เป็นเพราะบุญของคนสอบมีน้อย
บางคนแนะนำให้ท่านไปปฏิบัติธรรมเพื่อหาทางพ้นทุกข์ และเท่าที่ทราบจากโพสต์นั้น
ท่านตัดสินใจลาสิกขาออกไปครับ
การเป็นมหาจึงต้องได้มาด้วยบุญ
ไม่ใช่เพียงเพราะความขยันหมั่นเพียรเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้
การต้องสอนให้หมั่นทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ถ้าเป็นไปได้ก็รักษาศีลให้เคร่งครัดขึ้น และจาริกแสวงบุญ ไหว้พระขอพรเมื่อมีโอกาส
จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเอื้อให้สอบผ่านได้ (ต่อให้เราไม่เชื่อ
แต่พระมหาหลายท่านปฏิบัติเช่นนี้จริงๆ นะ)
ผมไม่ได้มีเจตนาในการจะทำลายภาพลักษณ์ของการสอบบาลีแต่อย่างใด
เป้าหมายแค่เพียงอยากทำความเข้าใจว่า เพราะอะไรแนวคิดเรื่องบุญจึงผูกติดอยู่กับมหาเปรียญอย่างถอนไม่ขึ้น
และผมไม่เชื่อแค่ว่าเพราะท่านได้รับผ่านตำราเพียงอย่างเดียว หากแต่เพราะการต้องหวังกับกระบวนการสอบที่คลุมเครือจึงทำให้ท่านทิ้งเรื่องบุญไปไม่ได้
ไอเดียนี้ผุดขึ้นมาตอนที่ผมได้ยินคำอธิษฐานของพระนักศึกษาในวิหารพระนอนวัดสามพระยาคับ
นี่เจาะจงเฉพาะเรื่องการสอบเท่านั้นนะครับ
ยังไม่พูดถึงความคลุมเครือในการเลื่อนตำแหน่งเป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยบุญอีกเช่นกัน
ยิ่งมีความคลุมเครือมาก บุญยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น แม้ท่านจะสอบได้ ป.ธ. 9
ไปแล้ว และท่านยังเทศน์เรื่องบุญหรือกรรมเก่าตลอดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
หรือการที่สังคมยกย่องพระมหาโดยที่ยังไม่ทราบว่าท่านมีความรู้ภาษาบาลีมากแค่ไหน
ก็สะท้อนชัดว่า สถานะนี้ได้มาเพราะบุญจริงๆ
ป.ล. ผมไม่เคยสนใจเจตนาในการเรียนบาลีของใคร
เพราะเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นและไม่ได้เลวร้ายโดยส่วนเดียว ผมยังยกย่องมหาเปรียญทั้งหลายที่พยายามเรียนอย่างอุตสาหะและสอบอย่างสุจริต
เพราะไม่ว่าการเรียนสาขาไหนก็มีประโยชน์ในการพัฒนาปัญญาทั้งสิ้น ยินดีมากครับที่ครึ่งหนึ่งของชีวิตผมได้คลุกคลีอยู่กับการเรียนการสอนแบบนั้น
เจษฎา บัวบาล
28 พฤศจิกายน 2561
ภาพจาก https://mgronline.com/travel/detail/9550000010664
No comments:
Post a Comment