เราจะนิยามรักว่าอะไรก็ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบคือ รักคือความรู้สึกที่ไม่เกลียด
และไม่ตั้งแง่เพื่อจะเกลียดกันในอนาคต
คนที่บอกว่ารักใครแล้วสักพักเปลี่ยนเป็นความเกลียด
ความรู้สึกรักในตอนแรกนั้นไม่น่าจะเป็นความรักจริงๆ
แต่เป็นความสุขจากการได้หวังอะไรบางอย่างจากคนที่ตนชอบมากกว่า
รักมีหลายประเภทจริงหรือ?
ผมแยกความรักเป็นหลายประเภท เช่น
รักครอบครัว รักเพื่อน รักแฟน รักครูอาจารย์เป็นต้นไม่ได้ และนี่ไม่ใช่ความผิดปกติ ผมเชื่อว่า คนที่พยายามแยกมันต่างหากที่ผิดปกติ
เพราะเขาพยายามจัดระเบียบความรักให้พิเศษกับบางสิ่งและลดทอนความรักกับบางสิ่ง
สำหรับผม รักมีแบบเดียวเท่านั้น “คือปรารถนาดี อยากทำให้เขามีความสุข”
งั้นถามว่า มีเซ็กส์กับเพื่อนได้หรอ? สำหรับผม “ได้ครับ”
ภายในวงเล็บ “ถ้าเป็นความยินดี/ยินยอมของทั้งสองฝ่าย” เซ็กส์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ให้ความสุขกับเราเหมือนอยากกินไก่ทอดแล้วได้กิน
อยากเล่นกีฬาแล้วได้เล่น
ที่เรามองว่ามันไม่ปกติเพราะเราไปสร้างความพิเศษและจารีตศีลธรรมใส่มัน
ลองนึกภาพว่า ถ้าเราตั้งกฎใหม่ว่า
ห้ามนั่งกินข้าวกับเพื่อนหรือครอบครัว ทำได้เฉพาะแต่กับแฟนเท่านั้น
ทำกันจนเป็นจารีตและเข้าไปในระบบความเชื่อ นิยามของแฟนก็จะกลายเป็น “คนที่เราสามารถนั่งทานข้าวด้วยได้
ขณะที่เราทำกับคนอื่นไม่ได้” เรื่องนี้ดูผิดปกติใช่ไหมครับ
สำหรับผม การกำหนดให้มีเซ็กส์เฉพาะกับแฟนคนเดียวก็ผิดปกติพอกัน
เพราะนิยามของแฟนหรือผัวเมียคือ “คนที่เรามีเซ็กส์ด้วยได้
แต่กับคนอื่นต้องห้าม”
โลกวิชาการยอมรับว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีหลายผัวหลายเมีย
แต่สิ่งนี้หายไปเมื่อศาสนาเข้ามาจัดระเบียบ สร้างความเชื่อว่า
ถ้าอยากเป็นคนดีต้องมีผัวเดียวเมียเดียว (หรือสี่เมีย)
ตรงกับช่วงที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ก็มาช่วยยืนยันว่า การมีเซ็กซ์แบบไม่จำกัดอาจเป็นต้นเหตุแพร่เชื้อโรคบางชนิดได้
คำถามคือ ถ้าการร่วมเพศแต่ละครั้งมีการป้องกันละ
ระบบผัวเดียวเมียเดียวยังฟังขึ้นอยู่ไหม?
หรือถ้ามีศาสนาเกิดใหม่และบอกว่า มีผัวเมียได้ 8 คน ศาสนานั้นไม่มีคุณธรรมหรอ?
อาจเถียงอีกว่า
อย่างน้อยการรักเดียวใจเดียวทำให้ครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องหึงหวงกัน ตอบว่า
ที่เราหึงหวงกัน เพราะเราโตมาในกรอบคิดของการครอบครองวัตถุนั้นเพียงคนเดียวคับ
ถ้าเราโตในระบบที่แชร์ทุกอย่างร่วมกับคนอื่น
จะทำให้เราใช้มันด้วยความรู้สึกไม่ต้องครอบครอง
เหมือนกับการเล่นดินน้ำมันหรือลูกฟุตบอลของโรงเรียน
ยิ่งศาสนาพุทธ
แก่นคำสอนยิ่งชัดว่าความทุกข์แท้จริงเกิดจากความรู้สึกไปครอบครองว่าเป็นของของเรา
(เอตํ มม) ตัวอย่างที่ง่ายและดูไร้จริยธรรมที่สุดคือ
เด็กที่รับเงินเดือนและค่าเทอมจากเสี่ย
เธอเหล่านี้ไม่ต้องรู้สึกหึงหวงหรืออยากครอบครองเสี่ยอย่างเป็นทางการ ต่างฝ่ายต่างรู้หน้าที่และระยะห่าง
ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะคงดำเนินไปได้ด้วยความสุขตราบที่ทั้งสองรักษากติกากัน
นั้นอาจเป็น ต้องส่งเงินให้ครอบตามวาระ และ ต้องไปข้างนอกกับเสี่ยได้เมื่อสะดวก
อันนี้ผิดจริยธรรมตรงไหนครับ? ตรงที่ไม่ได้แต่งงาน? ถ้านิยามจริยธรรมกันที่การแต่งงานคงผิดพลาดมาก
เพราะคนจำนวนมากแต่งงานแล้วก็ไม่มีความสุข แต่ทนอยู่เพื่อรักษาจริยธรรมหรือ? ผมคิดว่า
จริยธรรมจะมีก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเคารพกันและยังรักษากติกาที่ตกลงกันไว้ นั่นคือ
ต่อให้แต่งงานกันแต่หากไม่ดูแลเขาให้ดีตามที่สัญญากันไว้ นั่นต่างหากที่ผิดจริยธรรม
ต้องรักฉันคนเดียว จึงจะเป็นรักแท้?
ดังที่เกริ่นไปแล้วว่า
นั่นเป็นความสุขจากความหวังครับ ไม่ใช่ความรัก
แถมยังเป็นความหวังเชิงบังคับให้อีกคนต้องตอบสนองความต้องการของเขา สรุปแล้ว
คนพวกนี้รักใครก็ใช้เขาเป็นเครื่องมือสร้างความสุขให้ตัวเอง มีความสุขเพียงเพราะได้แสดงให้สังคมเห็นว่าตนสามารถครอบครองคนนี้ได้
ทำให้คนนี้อยู่ในอำนาจและจงรักภักดีต่อตนได้
และจะเกลียดมากหากทราบว่าเขาเริ่มออกนอกลู่นอกทาง
เขาไม่สามารถรักใครหรือให้ความสำคัญกับคนอื่นได้มากเท่ากับตัวเอง
ความรักของคนประเภทนี้คือการเชิดชูให้ตัวเองมีค่า และคนรักของตนต้องเกลียดหรือรักคนอื่นน้อยกว่าตน
กล่าวโดยสรุปคือ
ระบบผัวเดียวเมียเดียวได้บั่นทอนคุณค่าของความรักที่เป็นสากลให้เฉพาะลงแค่คนสองคน
แทนที่อีกฝ่ายจะช่วยเหลือคนอื่น ใช้เวลาให้ความสุขกับคนอื่นๆ ได้อีก
ก็ถูกห้ามด้วยจารีต แต่เอาเข้าจริง จารีตก็สู้สัจธรรม/ธรรมชาติของความรักไม่ได้
มนุษย์จำนวนมากยังละเมิดจารีตด้วยการมีชู้/กิ๊ก และสร้างความสุขให้อีกคน
(หรือให้ตนเอง) อยู่เสมอ
อย่ามองว่านี่เป็นรักจอมปลอมแค่ข้ามคืนนะครับ
เพราะอย่างน้อย รักนั้นก็มีอยู่จริงตั้งหนึ่งคืน
ต้องอาศัยความเสียสละและสามารถสร้างความสุขให้คนได้แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราต้องการเซ็กส์แค่ช่วงเวลาสั้นๆ นั่นแหละ
ไม่ได้ต้องเซ็กส์ตลอด 24 ชั่วโมง
กลับมาที่ข้อเสนอของผมคือ
นั่นหมายความว่า การอยากให้อีกคนรักเราและอยู่กับเราคนเดียว
ไม่ได้เกิดจากความต้องการทางเพศ แต่เพราะเราสุขจากการได้ครอบครอง
ได้บอกตัวเองและสังคมว่า เราเก่งพอที่จะทำให้อีกฝ่ายอยู่ในกำมือเราได้ สำหรับผม
อันนี้ไม่ใช่ความรักแต่เป็นอำนาจครับ พูดให้สั้นคือ
ผมไม่รู้สึกหวงหากทราบว่าแฟนผมไปสนิทกับใคร ช่วยเหลือใคร หรือมีอะไรกับใคร
แต่เธอต้องป้องกัน (เพื่อไม่แพร่เชื้อ ซึ่งเท่ากับเธอเคารพผมแล้ว)
ถ้าคนรักเรา เขารักเรามาก
ดูแลเราอย่างดี ช่วยเหลืองานและแบ่งเบาภาระเราทุกอย่างด้วยความสุจริตใจ
แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ช่วยเหลือคนอื่นและรักคนอื่นอีกสิบคนไปพร้อมๆ กัน
เขามีความสามารถในการจัดสรรเวลาเพื่อจะช่วยเหลือทุกคน เราจะทำอย่างไรกับเขา? เราจะขอให้เขาเลิกช่วย เลิกรัก
และเลิกมีเซ็กส์กับคนอื่นๆ และทำเช่นนั้นกับเราเพียงคนเดียวหรือ? นั่นเป็นความรักหรือความอยากครอบครอง?
อาจปกติ
ที่เราจะขอให้คนอีกคนรักและดูแลเราคนเดียวเท่านั้น
เพราะปกติมนุษย์ไม่ได้ต้องการแค่รักเท่านั้น ยังมีความต้องการอื่นๆ เช่น อำนาจ
หน้าตา การยกย่องจากสังคม เป็นต้นด้วย
เพียงแต่เราควรยอมรับว่านี่ไม่ใช่รักแท้ล้วนๆ
และอย่าเอามาตรฐานรักแท้แบบจอมปลอมของเราไปตัดสินคนอื่นว่าไม่รักแท้เพียงเพราะเขาดูแลคนได้มากกว่าหนึ่งคน
ความเป็นแฟนหรือผัวเมีย
ยังดำรงอยู่ได้ตราบที่ทั้งคู่รักษากติกาที่ตกลงกัน กติกาอันนี้ไม่ตายตัว
อยู่ที่รสนิยมของปัจเจกบุคคล
คนหนึ่งอาจบอกว่าเธอไปมีอะไรกับใครก็ได้แต่ต้องป้องกัน
อีกคนบอกว่าเธอจะต้องส่งเงินให้ลูกตามวาระที่กำหนด เป็นต้น
การกำหนดให้ต้องแต่งงานและมีผัวเดียวเมียเดียวก็เพื่อสร้างความเป็นระเบียบทางสังคม
ที่คนยุคนั้นเชื่อว่าจะทำให้สังคมสงบสุข แน่นอนว่าระบบนี้มีประโยชน์
แต่การเปิดโอกาสให้มีหลายผัวหลายเมียและไม่ครอบครองผัวเมียเลยก็สร้างระเบียบของสังคมได้อีกแบบเช่นกัน
อย่างน้อยที่สุด ในแง่ความรู้สึก คนจะไม่ถูกฝึกให้จับจองเป็นเจ้าของและรู้สึกหึงหวง
ในแง่อาชญากรรม คนจะไม่ฆ่าหรือทำร้ายอีกฝ่ายเพียงเพราะเขาไม่รักตัวเอง
ถ้าไม่มีการครอบครองแล้ว
เราก็ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งนั้น? อันนี้ไม่จริง
ความรักที่เกิดขึ้นโดยไม่ถูกบังคับจะทำให้เราใช้สอยและดูแลเขาเสมือนสิ่งนั้นสำคัญต่อชีวิตเราจริงๆ
เช่นเดียวกับคนที่รู้คุณค่าของน้ำ หรือ ขยะ
เขาจะไม่ฟุ่มเฟือยและใช้มันอย่างทะนุถอน ต่างกับคนที่ครอบครองแบบไม่เห็นคุณค่า
เมื่อได้มาแล้วและจะใช้อย่างไรก็ได้ เพราะสิ่งนั้นเป็นของตน ต้องเชื่อฟังตน
รักแท้ต้องมีลูก?
ลูกมักถูกใช้เป็นเครื่องมือผูกมัดอีกฝ่าย
คนจำนวนมากมีปัญหาครอบครัวขั้นไม่มองหน้ากันแต่เลิกกันไม่ได้เพราะสังคมบอกว่าลูกจะเป็นเด็กมีปัญหา
เหตุผลของการมีลูกที่อธิบายกันจำนวนมากมาจากความเห็นแก่ตัวล้วนๆ เช่น
หากไม่มีลูก แล้วใครจะดูแลเราเมื่อแก่? สรุปคือ
ต้องการใช้ลูกเป็นเหมือนทาสที่ต้องตามเช็ดขี้ เยี่ยว ทำงานหาเงินซื้อกับข้าวดูแลเรา
สิ่งนี้โตขึ้นพร้อมกับการสร้างคุณธรรมเรื่องความกตัญญู
ลูกที่ไม่ดูแลพ่อแม่ถือว่าเนรคุณ ช่วงวันสารท หากไม่กลับบ้านก็ถูกสังคมนินทา
กลายเป็นว่า พวกเขาเลี้ยงลูกเหมือนทำธุรกิจที่หวังกำไรในวันหน้า
ไม่ได้เลี้ยงด้วยความรักและให้เสรีภาพที่เด็กจะเลือกอนาคตเขาเอง
ถ้าเด็กมีความน่ารัก
ทำไมไม่รับเด็กจากสถานสงเคราะห์หรือบ้านคนยากจนมาดูแล ตอบว่า
เพราะเขาไม่ได้เกิดจากเลือดเนื้อของเรา สรุปคือ ถ้าเป็นลูกคนอื่นก็รักไม่ได้
ต้องเชื่อว่ามาจากเลือดตัวเองเท่านั้นจึงจะรับผิดชอบ
ไม่แปลกเลยที่คนแบบนี้เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวและไม่สามารถสัมผัสรักแท้ได้เลย
และหากการต้องมีลูกเป็นเป้าหมายของความรักหรือการแต่งงาน เเสดงว่าคนที่ร่างกายบกพร่องไม่สามารถมีลูกได้ก็ต้องไม่มีสิทธิแต่งงานหรือเขาไม่มีวันรู้จักความรักเลยหรือ? ความรักก็คือรักครับ ไม่เกี่ยวกับการต้องมีลูก ต้องแต่งงาน หรือต้องอยู่กับใครเพียงคนเดียว
และหากการต้องมีลูกเป็นเป้าหมายของความรักหรือการแต่งงาน เเสดงว่าคนที่ร่างกายบกพร่องไม่สามารถมีลูกได้ก็ต้องไม่มีสิทธิแต่งงานหรือเขาไม่มีวันรู้จักความรักเลยหรือ? ความรักก็คือรักครับ ไม่เกี่ยวกับการต้องมีลูก ต้องแต่งงาน หรือต้องอยู่กับใครเพียงคนเดียว
ท่านอาจมองว่าผมไม่ปกตินะครับ
อันนี้เป็นเพียงความเห็นของผมซึ่งเป็นความรู้สึกจริงๆ
ผมกลับมองว่าคนที่พยายามขีดกรอบรักแท้ สร้างจารีตศีลธรรมขึ้นมาจำกัดบุคคล
หรืออยากมีลูกด้วยเหตุผลดังกล่าวต่างหากที่ไม่ปกติ ถ้าความหมายของรัก คือ รัก
ก็จะหมายถึงเรามีความปรารถนาดีที่จะช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข และเราเองอาจมีความสุข
(ทั้งกายหรือใจ) จากสิ่งนั้นด้วยก็ได้
ความสุขที่ยั่งยืนจึงเป็นความสุขที่ไม่มาพร้อมกับการต้องครอบครอง
การห้ามไม่ให้เขารักคนอื่นหรือต้องรักให้น้อยกว่าตน ห้ามเขาทำบางอย่างเพื่อจะสร้างความสุขให้ผู้อื่นเพราะต้องทำสิ่งนั้นกับตนเท่านั้น
เซ็กส์ไม่ใช่เรื่องใหญ่
แค่การเอาอวัยวะหนึ่งเสียดสีกันแล้วมีความสุข
แต่มันกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะจารีตสร้างความเชื่อให้ ถ้าเราบอกว่า
การนวดตัวจะช่วยให้อีกฝ่ายมีความสุขแต่จำกัดไว้ว่าแฟนหรือผัวเมียเท่านั้นจึงจะนวดกันได้
คงเป็นเรื่องตลกนะครับ ทั้งที่มันก็แค่การช่วยให้อีกฝ่ายผ่อนคลายและเสพสุข
ผมไม่ได้โรคจิตนะ
เพราะผมมองเซ็กส์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสุขไม่ต่างกับการกินข้าว
เล่นฟุตบอลหรือนวดตัว คนที่มองเซ็กส์ว่าลี้ลับ น่ารังเกียจ เป็นของสงวน
ไม่ควรหยิบมาพูด
พวกเขาต่างหากที่หมกหมุ่นกับเรื่องนี้จนเกิดอคติกับเซ็กส์และใช้มันเป็นตัวกำหนดจริยธรรมเพื่อชี้หน้าคนนั้นคนนี้ว่าดีหรือชั่ว
โดยไม่คำนึงถึงสัจธรรมหรือธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์
ผมไม่ได้เขียนเพื่อทำลายจริยธรรมอันดีของสังคมไทยนะครับ
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ระบบผัวเดียวเมียเดียวก็มีประโยชน์ในแง่หนึ่ง ผมแค่เสนอว่า
ระบบหลายผัวหลายเมียมีประโยชน์มากกว่า นั่นหมายความว่า
ถ้าสังคมยังอยากครอบครองบุคคลในแบบแรกก็ทำเช่นนั้นได้ เพราะจริยธรรมที่ผมนิยามคือ
ตั้งกติกาและรักษากติกาอันนั้นเพื่อเคารพอีกฝ่าย แต่หากใครไม่ชอบระบบแรกเพราะเห็นว่าเป็นตัวผูกมัด
ไม่ให้อิสรภาพและลดทอนนิยามของความรักลง
เขาก็ควรมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตในแบบที่สองตราบที่ไม่ละเมิดหรือทำร้ายชีวิตคนอื่น
เจษฎา บัวบาล
28 ตุลาคม 2561
No comments:
Post a Comment