Monday, November 19, 2018

ใครคือเจ้าของศาสนา?




ศาสนาเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของศาสดา พระพุทธเจ้าเข้าถึงสัจธรรมขณะที่นั่งสมาธิคนเดียว ตลอดจนศาสดาท่านอื่น ๆ เช่น นบีมูฮัมหมัดก็กลายเป็นศาสดาเพราะพระเจ้าใช้ท่านให้เป็นผู้ประกาศศาสนาอิสลาม การเลื่อนขั้นเป็นศาสดาเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว (private sphere) และศาสดาเหล่านั้นก็อ้างประสบการณ์ส่วนตัว (personal experience) แต่เมื่อออกมาสั่งสอน ท่านกลับประกาศว่า คำสอนของท่านมีความเป็นสากลเพื่อมนุษย์ทุกคน แม้สิ่งนี้จะดูย้อนแย้งกัน แต่อย่างน้อยก็สื่อว่าไม่ควรมีใครอ้างความเป็นเจ้าของศาสนา เพราะศาสนาเป็นสมบัติกลางที่ศาสดามอบไว้ให้ทุกคน


ทุกนิกายล้วนตอบโจทย์สาวกที่แตกต่างกัน
เป็นเรื่องปกติเมื่อคนอ่านคัมภีร์ศาสนาแล้วจะตีความต่างกัน ต่อให้มีอรรถกถาหรือหะดีษมาขีดกรอบ/ควบคุมความเข้าใจก็ยับยั้งความเข้าใจที่หลากหลายของมนุษย์ไม่อยู่ การที่แต่ละนิกายนำคำสอนมาถกเถียงกันเป็นสิ่งที่ดี เพราะโดยธรรมชาติ ความรู้จะเติบโตขึ้นเมื่อต้องปะทะกับความต่างและแปลกใหม่ (คนฉลาดคือคนที่อยู่ท่ามกลางความแตกต่างและเปิดมุมมอง) และความแตกต่างนี่แหละ ที่จะตอบสนองมนุษย์ได้หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน

หลายคนเห็นว่า สำนักอภิธรรมของสุจินต์ บริหารวนเขต มีความคร่ำครึ ไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย เขาจึงเข้าหาสำนักอื่น ๆ เช่น สวนโมกข์หรือพระป่าภาคอีสาน แต่สำนักของสุจินต์เองก็สามารถตอบสนองคนจำนวนมากที่มีความรู้ด้านอภิธรรมและเห็นว่าการพ้นทุกข์เกิดจากการเข้าใจสภาวะธรรม มากกว่าการต้องไปนั่งสมาธิหรือเข้าวัดสวดมนต์ ผมยกตัวอย่างนี้ไม่ใช่เพื่อจะบอกว่าสำนักไหนดีกว่า แต่เพื่อจะสื่อว่า แต่ละสำนักสามารถตอบสนองความต้องการของศาสนิกในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งในทุกสำนักก็เชื่อว่าตนเป็นศาสนิกแท้จริง ต่างฝ่ายจึงมีสิทธิเสนอแนวคิดของตนและโต้แย้งสำนักอื่น โดยจะต้องไม่มีอำนาจรัฐมาสั่งให้ยุบหรือใช้วิธีอันธพาลรุมทำร้ายคนคิดต่าง

อุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ของอินโดนีเซียคนหนึ่งกล่าวว่า แผ่นดินไหวที่ปาลูเกิดจากการที่พระเจ้าลงโทษเกย์และพวกผิดศีลธรรม ผู้ฟังจำนวนมากนั่งพะยักหน้าเห็นด้วย ขณะที่เพื่อนมุสลิมซึ่งเป็น นศ. สาขาชีววิทยาส่ายหน้าพร้อมกับพูดว่า “คนสอนศาสนาเหล่านี้แหละที่กำลังทำลายศาสนาอิสลาม” ในความคิดของเธอคือ อุสตาซควรเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ พูดในสิ่งที่พิสูจน์ได้

อิสลามในทัศนะของเธอจึงต่างกับอิสลามในทัศนะของอุสตาซ ขณะที่อุสตาซเชื่อว่าท่านกำลังเผยแผ่ศาสนาด้วยการสอน เธอกลับเชื่อว่า การสอนแบบนั้นจะทำให้คนรุ่นใหม่รังเกียจศาสนาในมิตินั้นและอาจจะออกห่างศาสนามากยิ่งขึ้น อย่างน้อยที่สุดคือ ไม่อยากเข้าไปนั่งฟังคำสอนจากผู้นำศาสนาประเภทนั้น และแน่นอนว่า หากเธอเถียงกับอุสตาซ เธอก็ไม่ควรถูกตำหนิ เพราะการวิพากษ์จะทำให้ศาสนาโตไปพร้อมกับโลกสมัยใหม่

สันติภาพเกิดจากการห้ามพูด?
ขันติธรรมทางศาสนาในไทยมีน้อยมาก เห็นได้ชัดเมื่อบังโต ซิลลี่ฟูล วิจารณ์แนวคิดเรื่องรูปเคารพและยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า ทำนองเดียวกับเมื่อหลายปีที่แล้วที่มุสลิมในกรุงเทพฯ ประท้วงการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด มีทั้งคนที่อยากให้บังคับใช้กฏหมายเพื่อเอาผิดและคนที่อยากรุมกระทืบผู้วิจารณ์ ทั้งที่หลักคำสอนทางศาสนาระบุชัดว่าทางออกเมื่อมีคนวิพากษ์ศาสนาคือ “อธิบายให้เขาเข้าใจ” หากยังไม่เข้าใจ ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะกฏแห่งกรรมหรือพระเจ้าจะลงโทษเขาเอง (ไม่ใช่เราที่ต้องชิงลงโทษเขา)

การออกมาขอโทษชาวพุทธและชี้แจงหลักการของศาสนาอิสลามโดยจุฬาราชมนตรีถือเป็นความรับผิดชอบและความกล้าหาญที่น่ายกย่อง แต่ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า อิสลามไม่ได้เป็นของจุฬาราชมนตรี นั่นคือ มุสลิมคนอื่นๆ ที่เห็นต่างก็ควรมีสิทธิเท่ากับท่าน ถ้าใครยังเห็นว่าการเผยแผ่ศาสนาดำเนินไปได้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เขาก็ควรมีสิทธิทำเช่นนั้นต่อ และผมเห็นว่า วัฒนธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์ควรถูกทำให้เป็นสิ่งปกติในทุกสังคม เพราะสันติสุขจะเกิดเมื่อคนมีความอดทนในการปะทะกับความเห็นต่าง ไม่ใช่การแยกกันอยู่และห้ามพาดพิงความเชื่ออื่น

การพยายามออกกฏหมายดูหมิ่นศาสนามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอาจถูกตีความเพื่อกำจัดคนที่ตนเกลียด และขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มีกลุ่มชาวพุทธที่อยากปกป้องศาสนาและเสนอให้ใช้กฏหมายเอาผิดสตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับพระด้วยการจำคุกเธอ เพราะเหตุผลว่า เธอมีเจตนาในการทำลายภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา โชคดีที่ร่างฉบับนี้ไม่เคยผ่าน หรือแม้แต่การเสนอให้รัฐคุ้มครองศาสนาหรือนิกายใดนิกายหนึ่งเช่น พุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งระบุในรัฐธรรมนูญ ถามว่า หากมีคนขอหวยจากจอมปลวกต้องถูกลงโทษหรือไม่ เพราะพฤติกรรมนั้นขัดกับหลักการของเถรวาท เท่ากับทำลายชื่อเสียงของเถรวาทโดยตรง? จะเห็นว่า กฏหมายประเภทนี้มีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน จึงไม่ควรให้มี

เพราะหากพูดกันอย่างเปิดใจ ทุกศาสนาล้วนเติบโตมาจากการโจมตีคนอื่น เพราะจำเป็นต้องหักล้างความเชื่อเดิมและให้ข้อมูลใหม่เพื่อชักจูงให้เขาเชื่อตนเอง พระพุทธเจ้าโจมตีศาสนาพราหมณ์ พระเยซูโจมตีความเชื่อยิว นบีมูฮัมหมัดต้องปะทะกับความเชื่อท้องถิ่นเช่นพวกบูชารูปเคารพเป็นต้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอธิบายศาสนาของตนโดยไม่กระทบผู้อื่น สิ่งที่สังคมควรมาตกลงกันคือ ทำอย่างไรให้คนที่ถูกวิจารณ์มีความอดทนและหันมาถกกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่ชักชวนกันไปรุมกระทืบหรือฟ้องให้ต้องจำคุก 

คนที่เรียนมามาก ในทุกๆ นิกาย มักอ้างว่าตนเป็นเจ้าของศาสนา พยายามพิสูจน์ว่าคัมภีร์ทางศาสนาของตนถูกเขียนหรือถ่ายทอดกันอย่างเป็นระบบ (หรือมีสายรายงาน) และตนเท่านั้นที่ทราบว่าอะไรคือคำสอนแท้-คำสอนปลอม แต่ละนิกายก็ให้เหตุผลต่างกันและไม่มีทางตกลงกันได้เลย (จึงต้องแยกนิกายไง) นี่เป็นเหตุผลที่ว่า เราจึงไม่ควรฆ่าคนอีกนิกายหนึ่ง หรือกำหนดให้ประเทศเป็นรัฐศาสนาเพื่อจะส่งคนของตนเข้าไปปกครองและจับคนอีกนิกายหนึ่งมาย่างเพื่อให้สารภาพผิด

“การเปิดโอกาสให้วิจารณ์จะนำไปสู่ความวุ่นวาย” เป็นคำพูดของพวกเผด็จการที่ไม่สามารถต่อสู้กับผู้อื่นด้วยตรรกะได้ การโต้เถียงไม่ได้ทำให้สังคมเดือนร้อน ที่เราไม่ชินเพราะสังคมเราปิดกั้นเสรีภาพนี้มาตลอด และคนที่ไปเถียงก็มักถูกลงโทษจากผู้มีอำนาจ ในวงวิชาการ มีการโต้แย้งและหักล้างแนวคิดกันอย่างดุเดือด แต่ไม่เคยนำไปสู่การฆ่าคนคิดต่าง คนเหล่านั้นกลับมีความสุขจากการได้พิสูจน์ข้อมูลและความเชื่อของตัวเอง มีแต่จารีตศาสนากับเผด็จการเท่านั้นที่เสนอว่าความแตกต่างจะทำให้เกิดความแตกแยกจนต้องมา “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง”

เราไม่ควรเชื่อว่า ศาสนาจะล่มสลายเพียงเพราะมีคนวิพากษ์หรือเสนอกการตีความแบบใหม่ เพราะมนุษย์มีวิจารณญาณที่จะเลือกเองว่าเขาต้องการอะไร ถ้าการพูดของคนคนเดียวทำให้คนทั้งโลกเปลี่ยนตาม ตอนนี้ทุกคนคงทำตามพระพุทธเจ้าหรือนบีมูฮัมหมัดกันหมดแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม ศาสดาทั้งสองก็มีศักยภาพจำกัด สามารถทำให้คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นหันมาเชื่อ และในประวัติศาสตร์เอง ศาสดาเหล่านั้นก็ได้รับการต่อต้านและโต้แย้งอย่างมาก จึงควรเลิกเชื่อว่ามนุษย์โง่และจะเปลี่ยนกันง่ายเพียงเพราะเปิดโอกาสให้ใครคนหนึ่งพูด

อย่าให้ใครมาอ้างความเป็นเจ้าของศาสนา
เสรีภาพทางศาสนา (religious freedom หรือ free speech) จึงควรถูกเปิดให้ถึงที่สุด สามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ไร กฏหมายจะถูกบังคับใช้เมื่อมีการรณรงค์ให้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น เช่น ผมไม่ชอบใจอุสตาซ และเขียนยุยงให้คนที่อยู่ในซอยเดียวกับท่านช่วยปาก้อนหินใส่หลังคาบ้านหรือรุมทำร้ายร่างกายท่าน แต่หากยังเป็นการวิจารณ์คำพูด แนวคิดของท่านหรือศาสนาอิสลาม สิ่งเหล่านี้ยังมีความชอบธรรมและทุกคนควรมีสิทธิแสดงออก รวมทั้งอุสตาซเองก็มีสิทธิในการโต้แย้งหรืออธิบาย

การที่มีคนเผาคัมภีร์กุรอานแล้วถ่ายคลิป จะทำให้มุสลิมที่เข้าใจคำสอนเปลี่ยนใจจนรู้สึกว่าศาสนาอิสลามไม่มีสาระไหม? การเอาพระพุทธเจ้าและพระเยซูไปทำซีรี่หนังเรื่อง “ศาสดาพักร้อน” จะทำให้ชาวพุทธและคริสต์ที่ดูหนังนี้เลิกนับถือศาสนาไหม? นึกไม่ออกจริงๆ ว่าต้องใช้วิธีคิดแบบใดจึงจะเห็นว่าศาสนากำลังถูกทำลาย ผมมองว่า เมื่อมีคนล้อเลียนหรือวิพากษ์ศาสนา แล้วสาวกอยากใช้ความรุนแรงเพื่อโต้กลับ อันนี้ต่างหากที่ทำลายภาพลักษณ์ของศาสนา เพราะสะท้อนว่า “ศาสนานั้นไม่มีศักยภาพที่จะทำให้สาวกฉลาดหรือมีเมตตาเพิ่มขึ้นเลย”

ถ้าเช่นนั้นถามว่า ผมรับได้กับการที่มีคนเผากุรอานหรือพระไตรปิฎกหรือ? ตอบว่า “ใช่ครับ” แต่คนเผาต้องไปซื้อคัมภีร์นั้นมาเองนะ เมื่อซื้อเอง ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะทำอย่างไรกับหนังสือนั้นก็ได้ สำหรับผม ศาสนาจะถูกทำลายก็ต่อเมื่อมีการเผาตำราศาสนานั้นทุกเล่ม ทำลายข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และฆ่าคนที่ท่องจำคำสอนได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิคนอื่นอย่างรุนแรง และเราไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในทุกกรณี
 
หากเกิดความรู้สึกว่า เราอยากกำจัดใครขึ้นมา ขอให้ตระหนักว่าเราไม่ใช่เจ้าของศาสนา คนอื่นมีสิทธิที่จะตีความและประยุกต์ใช้คำสอนในรูปแบบของตัวเอง พอๆ กับที่เรามี แต่ถ้าองค์กรนั้นๆ ยังยืนยันที่จะอ้างความเป็นเจ้าของศาสนาและบังคับให้ต้องทำตามทุกอย่าง ยังมีทางออกคือ ออกมาจากศาสนาของเขาเช่นเดียวกับที่ผมออกมาจากศาสนาพุทธไทย ผมไม่ขอเป็นชาวพุทธแบบที่คนไทยนิยาม ถ้าคำสอนใดมีประโยชน์หรืออยากร่วมกิจกรรมใด ก็สามารถทำสิ่งนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องนิยามว่าตนขึ้นกับองค์กรหรือศาสนาใด (believing without belonging)

ถามว่า ถ้าไม่ประกาศตนว่าขึ้นกับองค์กรหรือศาสนานั้น ตายไปจะตกนรกไหม? คำตอบในแง่เทวนิยมคือ การตัดสินให้ใครต้องตกนรกหรือขึ้นสวรรค์เป็นดุลยพินิจของพระเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่ผู้นำศาสนาหรือองค์กรเผด็จการคนไหนๆ กรุณาอย่ามาตัดสินแทนพระเจ้า เพราะศาสนาเป็นประสบการส่วนตัวครับ

ศาสนาเป็นของทุกคน เมื่อเขาเห็นว่ามิติใดเข้ากับชีวิตเขา ก็นำส่วนนั้นไปปฏิบัติ ศาสนาในโลกสมัยใหม่จึงควรถูกมองว่าเป็น “ห้างสรรพสินค้า” ที่คนเลือกซื้อได้ ไม่ใช่การขายแบบยกห้าง โดยตั้งเงื่อนไขว่าหากไม่ซื้อทั้งห้างก็ไม่ต้องเข้ามาเหยียบ หรือถ้าไม่ซื้อสบู่ก็ไม่มีสิทธิซื้ออย่างอื่น กล่าวคือถ้าไม่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างทุกอย่าง หรือ ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเดินได้ 7 ก้าวตั้งแต่แรกเกิด ก็ห้ามเอาคำสอนของอิสลามและพุทธไปปฏิบัติ นี่เป็นคำสอนของคนที่ชอบตู่เอาเองว่าศาสนาเป็นของเขา

คนที่ชอบปกป้องศาสนา รู้สึกเดือนเนื้อร้อนตัวเมื่อมีคนวิพากษ์หรือดูหมิ่น แท้ที่จริงคือคนที่ไม่เข้าใจหลักการศาสนาของตนเลย และมีวิธีเดียวที่จะอ้างว่าตนเป็นคนดี การอ้างเช่นนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เช่นเดียวกับการอ้างว่ารักชาติและพระมหากษัตริย์ ทันใดที่อ้าง ก็มีความชอบธรรมที่จะชี้หน้าด่าหรือลงโทษคนอื่นได้เสมอ


เจษฎา บัวบาล
19 พฤศจิกายน 2561 
ภาพจาก http://gizikita.net/kisah-nabi-muhammad/ 

1 comment:

  1. เป็นความคิดที่...ให้มุมมองในแนวทางที่ใจเราต้องหยุดคิดพิจารณาจริงๆ

    ReplyDelete