ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นบทที่ถูกพัฒนาและรวบรวมขึ้นทีหลังผ่านการเอาเนื้อหาของสูตรอื่นๆ มารวมกันเพื่อเสนอให้เป็นหลักการของพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการเขียนพุทธประวัติที่ไม่ตรงกับที่อื่นๆ ธัมมจักฯ จึงถูกกำหนดให้อยู่ในส่วนของพระวินัยซึ่งเป็นปิฎกแรก เพื่อให้ภาพรวมและเสนอจุดยืนเบื้องต้นของศาสนา
บทความนี้ใช้ข้อมูลหลัก 2 ส่วนคือ วินัยปิฎก มหาวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์หลังตรัสรู้จนถึงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ และ ปาสราสิสูตร อันกล่าวถึงการแสวงหาที่ประเสริฐ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสูตรหลังเป็นการถ่ายทอดด้วยวิธีอัตตชีวประวัติที่พระพุทธเจ้าเล่าให้สาวกฟัง ซึ่งเป็นรูปแบบของ “พุทธวจน” ขณะที่ส่วนแรกเป็นการเล่าเป็นตอนๆ ผ่านบุคคลที่สาม/ผู้เรียบเรียงพระไตรปิฎก (compilers of the Canon)
เชื่อกันว่า อาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่นักบวช 5 คนเรียกว่าปัญจวัคคีย์ ถ้าอ่านวินัยปิฎก มหาวรรค ตั้งแต่ต้น จะพบว่าพระองค์แสดงธรรมกับคนอื่นๆ มาก่อนที่จะเดินทางไปพบปัญจวัคคีย์
ครั้งที่ 1 สนทนาธรรมกับพราหมณ์หุหุกชาติ ที่โคนไม้อชปาลนิโครธ (ข้อที่ 4) พราหมณ์คนนี้ชอบอุทานคำว่า “หุหุ” (อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า ไอ้เหี้ย) พราหมณ์ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า พราหมณ์ควรมีลักษณะ/คุณธรรมอะไรบ้าง? พระพุทธเจ้าตรัสเป็นใจความที่พอสรุปได้ว่า ต้องเป็นผู้ไม่ทำบาป ไม่ด่าผู้อื่นและไม่มีกิเลสเป็นต้น
ครั้งที่ 2 เมื่อพยานาคมุจจลินท์ผู้ซึ่งมาแผ่พังพานบังฝนและเเดดให้พระพุทธเจ้าเมื่อเพิ่งตรัสรู้จะทูลลา ก็ตรัสธรรมะเรื่องความสงบมีใจความว่า ความไม่พยาบาทในสรรพสัตว์ ไม่ฝักใฝ่ในกามและไม่ถือทิฐิมานะว่ามีตัวมีตนเป็นความสุขอย่างยิ่ง (ข้อที่ 5)
น่าตั้งข้อสังเกตว่า การสนทนาทั้งสองครั้งนั้น แทนที่จะใช้คำว่า “ตรัส” กลับใช้คำว่า “อุทาน” แม้คำว่าอุทานจะหมายถึง “การพูด” ได้ด้วย แต่ก็ให้นัยไปในทำนองที่พูดคนเดียว ดังที่พุทธทาสภิกขุเปรียบเทียบว่าเป็นการ “ฮัมเพลง” การใช้คำนี้อาจเป็นการเลี่ยงเพื่อจะไม่ล้มข้อเสนอที่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสเทศน์ ธัมมจักฯ เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้นเป็นเพียงการอุทาน (ทั้งที่มีความประสงค์จะตอบคำถามและเทศน์สอน)
เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ ณ โคนไม้ราชายตนะ พ่อค้าชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ได้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแก่พระองค์ จากนั้นก็ปฏิญาณตนรับเอาพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ ทั้งสองจึงถือว่าเป็นอุบาสก (เทวาจิกะ) คู่แรกของโลก เพราะขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ (สาวกที่ได้บรรลุธรรม)
คำถามสำคัญคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่สองพ่อค้านั้นจะรับเอาพระพุทธเจ้าและพระธรรมไปเป็นที่พึ่งสูงสุด (เพื่อจะนิยามว่าตนเป็นชาวพุทธ) โดยที่ไม่เคยฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเลย เทียบให้ชัดคือ เราสามารถมอบตัวเป็นลูกศิษย์บางคนได้หรือไม่โดยที่ยังไม่ทราบว่าเขาสอนอะไร?
บางที พระพุทธเจ้าเทศน์สอนสองพ่อค้านี้ จึงนำไปสู่การสร้างความเคารพนับถือและทำให้ทั้งสองรับเอาพระธรรมคำสอนไปปฏิบัติ (เป็นสรณะ) แต่เรื่องราวไม่ถูกบันทึกไว้ อาจเป็นเพราะทั้งสองไม่ได้บรรลุธรรม (นี้อาจเป็นเหตุผลเดียวกับการแสดงธรรมแก่ พราหมณ์หุหกชาติและพยานาคมุจจลินท์ด้วย) จึงไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร
“การบรรลุธรรม” เป็นตัวแปรสำคัญเพราะจะยืนยันได้ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นดีจริง เรื่องเหล่านี้สะท้อนชัดถึงข้อจำกัดของพระพุทธเจ้า ว่าท่านไม่สามารถเทศน์จนทุกคนบรรลุได้ และนี่เป็นเรื่องปกติเพราะระดับความสามารถของผู้ฟังก็ต่างกัน การนำเสนอเรื่องราวเช่นนี้อาจช่วยให้ชาวพุทธมองว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์มากขึ้น มิได้เป็นพระเจ้าที่จะกำหนดชะตาชีวิตใคร
ขอข้ามไปเปรียบเทียบกับกรณีบิดาของ “ยสะ” ผู้ซึ่งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุโสดาบัน (ข้อที่ 27) และรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะคนแรกของโลก (เตวาจิกะ) บิดาของยสะแตกต่างจากสองพ่อค้าตรงที่ท่านรับเอารัตนตรัยก็ต่อเมื่อได้เข้าใจ/บรรลุธรรมขั้นพื้นฐานแล้ว การรับนี้ดูจะมีเหตุผลมากกว่า
เป็นไปได้ไหมว่า สองพ่อค้าก็อาจบรรลุธรรมเช่นกัน แต่ไม่ถูกให้ความสำคัญเพราะวิถีของเถรวาทเน้นไปในทางออกบวชเป็นพระภิกษุ หากสองพ่อค้าบรรลุธรรมและลาไปประกอบธุรกิจดังเดิม ก็จะเป็นตัวอย่างที่ขัดกับความเป็นเถรวาท (ที่ถูกนิยามขึ้นทีหลัง) แต่ใกล้เคียงกับวิถีมหายานมากกว่า จึงต้องกำหนดให้ปัญจวัคคีย์ซึ่งบรรลุธรรมแล้วบวชเป็นพระเป็นสาวกรูปแรกและการเทศน์ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างบรรทัดฐานแบบเถรวาท?
คาโรล์ แอนเดอสัน (Carol Anderson, 2001 p. 86) เสนอว่า การเข้าใจสัจธรรม (บรรลุ) ไม่ได้มีทางเดียว ฉะนั้นการสอนในบทอื่นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่สำคัญ หรือ สำคัญน้อยกว่า ธัมมจักฯ ดังนั้น การกำหนดให้ธัมมจักฯ เป็นเทศนาครั้งแรกจึงมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้พุทธศาสนามีรูปแบบที่ชัดเจน (standardize) เพื่อบอกว่าปฏิเสธความเชื่อแบบไหนและเสนอวิธีปฏิบัติแบบไหน ซึ่งสอดรับกับข้อเสนอของ ริชาร์ด กอมบริช (Richard Gombrich, 2002, p. 61) ที่ว่า ผู้รวมรวมพระไตรปิฎกได้นำเอาสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาจัดให้เป็นปฐมเทศนา
เนื้อหาใน ปาสราสิสูตร (ข้อที่ 326) เมื่อทรงทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อว่าพระองค์บรรลุธรรมจริง พระองค์เทศน์ให้ 2 คนฟังและให้ 3 คนที่เหลือบิณฑบาตมาเลี้ยง วันถัดไปก็เทศน์ให้ 3 คนฟังและอีก 2 คนไปบิณฑบาต ถ้ายึดตามพระสูตรนี้ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าใครบรรลุธรรมเป็นคนแรกและคนสุดท้าย แต่สิ่งที่ทราบชัดคือ “การเทศน์ในครั้งแรกนี้ มีคนฟังเพียง 2 คนเท่านั้น”
ปาสราสิสูตรเน้นเรื่องการ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” และให้แสวงหาสิ่งที่ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายอีก ทรงสอนให้ปล่อยวางด้วยการปฏิบัติฌาน 8 และเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ดับความจำได้หมายรู้และความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบด้วยปัญญา) ฌาน 8 ที่พระพุทธเจ้าสอนอาจต่างกับของเดิมที่ท่านเรียนรู้มาจากอาจารย์ตรงที่ ฌานแต่ละขั้นมิใช่การปิดอายตนะทั้งหก แต่เป็นการรับรู้ด้วยสติ/ปัญญา เพียงเท่านี้มาร (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) ก็หาเรามาพบ นี่คือพระนิพพาน (ข้อที่ 326-327)
พระสูตรนี้ ซึ่งเป็นคำตรัสเล่าของพระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวถึง “อริยสัจ 4” ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา อาจตีความได้ว่า อริยสัจ 4 เป็นสิ่งที่ตรัสหลังการเทศน์ครั้งนี้และถูกเพิ่มเติมเข้าในบท ธัมมจักฯ ด้วย (Bronkhorst, 1993, p. 110)
เทศนานี้ดูง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่เริ่มด้วยการวิพากษ์วิธีปฏิบัติที่ผิดของศาสนาเดิม ตามด้วยอริยสัจ 4 (และกิจในอริยสัจ) และมรรคมีองค์ 8 ซึ่งดูเป็นระบบมาก (systematized) อาจสันนิษฐานได้ว่า ผู้รวบรวมพระไตรปิฎกเห็นว่า หากเอาเนื้อหาของปาสราสิสูตรไปเสนอในบทธัมมจักฯ จะทำให้พุทธมีความคล้ายคลึงกับพราหมณ์มากเกินไป เพราะทั้งเรื่องการรังเกียจ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และหาทางออกด้วยฌาน 8 เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิธีการเล็กน้อย
ธัมมจักฯ เป็นเทศนากัณฑ์แรกจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน สิ่งที่ควรได้จากการอ่านคัมภีร์คือ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ (possibilities) ในการเข้าใจคำสอนและบริบทของสังคม (รวมทั้งวัตถุประสงค์ของผู้รวบรวม) จะเห็นว่า ศาสนาที่เป็นระบบมุขปาฐะ (oral tradition) ก็จะมีพัฒนาการในแบบของตน เช่น การทำให้คำสอนเป็นระบบมากขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเองและสร้างจุดยืนว่าต่างจากความเชื่ออื่นอย่างไร
โดย เจษฎา บัวบาล
ติดต่อ jesada.bua@gmail.com
……………………………….
อ้างอิง
Anderson, C. (2001). Path and Its Ending: The Four Noble Truths in the Theravada Buddhist Canon. Motilall Banarsidas.
Bronkhorst, J. (1993). The Two Traditions of Meditation in Ancient India. Motilial Banarsidas.
Gombrich, R. (2002). Theravada Buddhism: A Social History from Ancient Banaras to Modern Colombo. London: Routledge.
Thanissaro Bhikkhu. (2004). Ariyapariyesana Sutta: The Noble Search (translation). Accessed on July 28, 2018 from http://www.accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.026.than.html
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). นาคคือคนพื้นเมือง. ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม. เข้าถึงจากเว็บไซด์ https://www.matichonweekly.com/culture/article_12532 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561.
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ animisticbeliever.wordpress.com
No comments:
Post a Comment