“เป็นพุทธแค่ในบัตรประชาชน” ในอดีตเคยถูกใช้เพื่อตำหนิคนที่ไม่เคร่ง/ไม่มีความรู้ด้านศาสนา
ไม่เข้าวัดในวันพระ ปัจจุบันคำนี้เปลี่ยนแปลงไป เพื่อจะสื่อว่า “ฉันไม่ได้เคร่งศาสนามากขนาดนั้น ก็แค่มองว่ามันเป็นมุมเล็กๆ ของชีวิต”
แนวคิดนี้เติบโตมาพร้อมกับรัฐสมัยใหม่ที่ศาสนาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ไม่ควรมีการบังคับให้เชื่อหรือทำพิธีกรรม แท้จริงศาสนาจะงดงามมากหากกลายเป็นเรื่องเสรีภาพ เพราะมนุษย์จะสามารถอ่าน/ตีความ หรือเข้าใจคำสอนในมุมมองของเราเอง และเราจะเลือกบางอย่างที่คิดว่าเข้ากับชีวิตเราได้ไปพัฒนาตัวเอง
เมื่อศาสนาเป็นเรื่องปัจเจกและถูกมองว่าเป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่ง
(ไม่ใช่ระบบศรัทธาที่ใช้บังคับให้ทำตาม / taboo) ก็หมายความว่า เราจะเรียนรู้และปฏิบัติตามศาสนาใดก็ได้ ทำนองที่ว่า “ฉันสนใจเรื่องการพัฒนาจิต แต่ฉันไม่ใช่ศาสนิก” (spiritual but not
religious: SBNR)
เราเติบโตมาผิดตรงที่ถูกบังคับให้นับถือศาสนาตามพ่อแม่ตั้งแต่วันแรกเกิดโดยไม่ได้เลือก
การเลือกที่ดีควรเกิดขึ้นเมื่อเรามีวิจารณญาณและผ่านการเรียนรู้ทุกศาสนาแล้ว
หรือใครจะไม่นับถือศาสนาอะไรก็ได้ เทียบกับการซื้อรถยนต์
เราจะได้รถที่ถูกใจและเหมาะกับการใช้งานไหมหากมีเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้นที่จะขายให้เรา?
การไม่มีสิทธิเลือกหรือการยอมไม่เลือกยังไม่เลวร้ายหากเราใช้ชีวิตเฉพาะในชุมชนที่ทุกคนเป็นแบบเรา
แต่มันจะมีปัญหาทันทีที่เราต้องปะทะกับคนอื่นซึ่งเลือกต่างออกไปและเรารีบตัดสินว่าเขาผิดโดยไม่ได้ทำความเข้าใจความเชื่อแบบเขา
ปัญหานี้พบในทุกศาสนาครับ ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างเฉพาะในหมู่ชาวพุทธเท่านั้น
การเปลี่ยนศาสนาไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจในทัศนะของพุทธ
เพราะเปิดโอกาสให้พิสูจน์คำสอนก่อนที่จะเชื่อดังที่ปรากฎในกาลามสูตร
แม้ในมาตริสูตร (อัง.ฉ.) จะพูดถึงการเปลี่ยนไปนับถือศาสดาอื่นเป็นโทษหนัก (อภิฐาน)
เช่นเดียวกับอนันตริยกรรมคือ ฆ่าพ่อแม่เป็นต้นก็ตาม
แต่พระสูตรนี้อธิบายชัดว่า
มันไม่ใช่การลงโทษด้วยการตัดสิทธิ์ได้มรรคผล
แต่พูดถึงอริยบุคคลว่าหากบรรลุธรรมแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนศาสนา
ประเด็นคือ ท่านหมายถึงคนที่บรรลุธรรมแล้ว ไม่ใช่พวกเราซึ่งเป็นคนทั่วไป
หรือที่ไม่กล้าเปลี่ยนเพราะเชื่อว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้ว?
นี่เป็นแนวคิดเก่าเมื่อสองพันปีที่เเล้ว
ที่เชื่อว่าการปฏิบัติหรือศึกษาศาสนาจะต้องมอบตนเป็นสาวกของอาจารย์ (ระบบมุขปาฐะ)
ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเเล้ว เพราะเราสามารถศึกษาศาสนาได้จากหนังสือและสื่อออนไลน์
และที่สำคัญ เราสามารถมองศาสนาว่าเป็นองค์ความรู้ที่วิพากษ์/ถกเถียงได้
เราจึงไม่ได้เรียนเพราะเชื่อในตัวอาจารย์หรือศาสดา
แต่ฟังบรรยายของผู้นั้นแล้วใช้วิจารณญาณของตนเอง
การเรียนปัจจุบันจึงไม่วางอยู่บนความเชื่อใครเพียงคนเดียว จึงไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาเพราะไม่ได้ถวายตนกับศาสนาตั้งเเต่ต้น
พวกพุทธแท้ที่มีการศึกษาก็อยากชำระศาสนาด้วยการไม่ให้พระใช้เงินซึ่งผิดวินัยสงฆ์
พระก็ออกมาแย้งว่าต้องปรับตามยุคสมัย ความลักลั่นของทั้งสองฝ่ายคือ
มองว่าตนกำลังปกป้องศาสนา ถ้าไม่มีคนแบบตนศาสนาก็จะเสื่อม ถ้าให้ยึดตามวินัยเดิม
พระไม่ควรรับตำแหน่งราชการ (พระสังฆาธิการ) และถ้าจะปรับตามยุค
ก็ควรยอมปรับวินัยเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงบวชภิกษุณีได้ด้วยครับ
เรื่องเหล่านี้เถียงกันได้
แต่ที่น่ากลัวคือพยายามผลักดันเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ให้พระทำเหมือนกันทั้งประเทศ
การสร้างอำนาจทางศาสนาเช่นนี้ล้วนเป็นความพยายามของพุทธแท้ที่มีการศึกษา
ไม่ใช่พวกร่างทรง คนเห็นผี พวกถวายน้ำแดงตามศาล หรือตาสีตาสาทำนาอยู่ในทุ่ง
แสดงว่า
พุทธปลอมยังเคารพเสรีภาพและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์แก่คนอื่นมากกว่าพุทธแท้เสียอีก
แต่ก็น่าสงสารที่คนเหล่านี้ถูกดูหมิ่นว่างมงายอย่างไม่รักษาน้ำใจกันเลย (ฮา)
บีตกงานและไม่สบายใจอย่างมาก
ระหว่างเขาถือพวงดอกไม้ไปไหว้เจ้าแม่ตะเคียน กับ ถวายพวงดอกไม้กับพระประธานในโบสถ์
ต่างกันตรงไหน? พุทธแท้จะบอกว่ากรณีแรกงมงาย
อย่างหลังเป็นการพึ่งพระรัตนตรัยซึ่งถูกต้อง ทั้งที่ความจริงคือ
ทั้งเจ้าแม่ตะเคียนและพระรัตนตรัยเป็นตัวแทนของอานุภาพเร้นลับ (ผี / animism)
ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจได้ในขณะนั้น
ศาสนาพุทธกลายเป็นสิ่งที่สูงส่งเพียงเพราะถูกบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์
ทั้งที่ศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่อง เช่น อาหารที่ถวายพระแล้วถ้าฆราวาสไปจับเข้าต้องถวายใหม่
เข้าพรรษาเพราะพระจะไม่เดินเหยียบนาข้าว เพศหญิงไม่รู้จักพอในกาม
ผู้หญิงเข้ามาบวชศาสนาจะเสื่อมเร็ว เบียดเบียนสัตว์จะทำให้ป่วย/เป็นโรค ฯลฯ
มีอะไรที่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์บ้างครับ?
ปี 2560 พระในภาคใต้ถูกข้าราชการเมาเหล้าคนหนึ่งทำร้ายร่างกายและกระชากจีวรออกเพราะหาว่าท่านเป็นพระปลอมเพียงเพราะท่านปฏิเสธเงินที่แกถวาย
สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกชอบศึกษา/ชอบทำบุญมักมีนิสัยตรวจสอบและด่าพระไปในตัว
(คนไม่ทำบุญ ไม่เข้าวัดจะไม่มีนิสัยแบบนี้)
นั่นเป็นเพราะศาสนาสอนให้เขาเป็นคนดีและต้องจัดการคนไม่ดีไปด้วย
ต่างกับพวกไม่เคร่งศาสนา ที่ไม่มองว่าตนดี เลยไม่จำเป็นต้องไปจัดการใคร
มีการก่อตั้งองค์กรปกป้องพุทธและสมาพันธ์ชาวพุทธเพื่อปกป้องพระเเละด่าอิสลาม
ผลงานที่พบได้ตามเพจคือ กล่าวหาว่ารัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ถูกอิสลามซื้อไปแล้ว
มีการปกป้องพระแม้ท่านจะทำผิด เช่น ปลอมสัญชาติ
และหากใครเสนอการตีความคำสอนอย่างอื่นซึ่งต่างจากที่ตนเชื่อ ก็จะใช้วิธีล่าแม่มด
ใส่ร้ายว่าเป็นมุสลิมปลอมบวชเพื่อทำลายศาสนา
องค์กรเหล่านี้อยู่ได้กับเงินบริจาคของชาวพุทธแท้ซึ่งอยากสะท้อนความเป็นคนดีกลุ่มหนึ่งที่ประสงค์จะปกป้องศาสนาและอยากให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติของไทยโดยไม่เคยพูดถึงรัฐ
secular
เช่นเดียวกับนักปฏิบัติธรรม
ที่เชื่อว่าสายครูอาจารย์ของตนถูกต้องและเหยียดหยามสำนักอื่นว่าผิดทาง “พุทโธดีกว่าพองหนอ-ยุบหนอ” ทั้งที่เป้าหมายคือให้มีสติอยู่กับตัวเหมือนกัน
ถามจริงนะครับ ว่าใครกล้ายืนยันบ้างว่าตนเองปฏิบัติจนบรรลุแล้ว
บางทีเราควรถามตัวเองนะ ว่าทำมา 10 ปีทำไมไม่บรรลุสักที
ไหนบอกว่าสำนักตนดีจริง? แต่ต่อให้มั่นใจว่าตนบรรลุจริง
เรื่องนี้ก็เป็นปัจเจกอยู่ดี นั่นหมายความว่า เราก็ตัดสินคนอื่นไม่ได้ว่าเขาผิด
เพราะเราไม่รู้ว่าเขาบรรลุหรือไม่
“นิชา” เป็นคนไม่มีศาสนา
เธอกินเบียร์เกือบทุกวัน แต่เป็นคนรักความสะอาด แยกขยะ
(ขยะบางอย่างเช่นกระดาษจะถูกเก็บในที่สะอาดและนำไปรีไซเคิลได้)
นิชาเปิดใจในการคุยทุกเรื่องเช่นเพศสภาพ ตรงกันข้ามกับ “นาชิ”
ซึ่งเป็นสาวกของสำนักอบรมครูสมาธิแห่งหนึ่ง มักพูดคุยเรื่องศาสนา
ไม่สนใจเรื่องขยะ/สิ่งแวดล้อม แม้น้ำจะเสียเพราะคนให้อาหารปลากันเยอะก็ยังไปให้อาหารเพื่อสะสมบุญไปใช้ชาติหน้า
นาชิเชื่อว่าคนข้ามเพศเป็นพวกผิดปกติเพราะทำกรรมมามากในอดีตชาติ
ซึ่งเธออ้างว่าร่ำเรียนพุทธศาสนามา
Alan Watts นักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเล่าว่า
ครั้งหนึ่งมาเที่ยวกรุงเทพฯ ขณะยืนเลือกหนังสือในร้าน เขาหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน
ชาวพุทธข้างๆ เห็นว่าเขาสนใจศาสนาจึงถามว่า “คุณปฏิบัติธรรมบ้างหรือเปล่า?”
แกตอบว่า “ปฏิบัติแบบเซน” เลยถูกสวนกลับมาด้วยความโกรธว่า “คุณไม่รู้หรอ
ว่าสมาธิพวกนั้นมันผิดทาง ที่ถูกต้องคือสติปัฏฐานแบบเถรวาทเท่านั้น
เป็นทางเดียวที่นำไปสู่การพ้นทุกข์” Alan บอกว่าแกได้แต่ตลกในใจ
ดังที่ผมว่านั่นแหละครับ
ยึดมั่นในสายตนเองและเหยียดหยามคนอื่นเป็นนิสัยพื้นฐานของคนเคร่งศาสนา
และความคับแคบเช่นนี้ ทำให้เขาไม่สามารถมองโลกในมิติอื่นได้
ต่างกับคนที่มองว่าศาสนาเป็นศาสตร์อันหนึ่งที่จะหยิบเอาตรงไหนไปปฏิบัติก็ได้และตั้งคำถาม/พิสูจน์กันก่อนที่จะเชื่อได้
ดังนั้น
ปล่อยให้การเป็นชาวพุทธอยู่แค่ในบัตรประชาชนเถอะครับ
อย่าเอามันมาสร้างนิสัยตำหนิคนอื่นโดยที่ไม่ศึกษาเขาให้ดีเสียก่อน
และหากการเคร่งศาสนาทำให้เรามองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์น้อยลงจนต้องทำร้ายเขา
ก็ทิ้งศาสนาและหันมารักเพื่อนมนุษย์ก่อน บางทีการเป็น spiritual
อาจเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้โลกของศาสนาเพิ่มขึ้นและพัฒนาชีวิตได้หลายทางขึ้นก็ได้นะ
เจษฎา บัวบาล
15 สิงหาคม 2561
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซด์ animisticbeleiver.wordpress
No comments:
Post a Comment