Tuesday, December 11, 2018

พระหนุ่ม-เณรน้อย: ชีวิตที่เคว้งคว้างภายใต้ร่มศาสนา



พระเณรที่อยู่ในช่วงอายุ 12-30 ปี มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่น่าศึกษา (เรื่องนี้ควรทำวิจัยด้วยซ้ำ) เพราะส่วนใหญ่ การเข้ามาสู่ศาสนาของเขาไม่ได้มาจากการตัดสินใจของตัวเอง แต่เพราะเหตุการณ์บังคับเช่น ฐานะทางบ้านไม่ดี หรือผู้ปกครองขอให้บวชภาคฤดูร้อน เมื่อเข้ามาพบเพื่อนใหม่ หลายคนจึงตัดสินใจเรียนต่อในวัดเลย ผมคือคนหนึ่งในนั้นครับ


พระหนุ่มเณรน้อยเหล่านี้ มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากพระทั่วไป นั่นคือเรามีการชกต่อย จีบสาว หรือแม้แต่ใช้จีวรเนื้อดีและห่มอย่างสวยงาม (สิ่งนี้จะต่างกับพระมีอายุ) และเราอาจละเมิดศีลบางข้อเช่น แอบกินมาม่าตอนเย็น และใช้ชีวิตเหมือนนักเรียนมัธยมทั่วไป นี่ไม่ใช่การแฉเรื่องในวัด เพราะคนพุทธทราบเรื่องนี้ดี ผมยกตัวอย่างเหล่านี้เพื่อจะบอกว่า ชีวิตพระเณรช่วงอายุประมาณนี้ มีทั้งเรื่องท้าทายและโดดเดี่ยว

เพราะความที่เด็กกำลังเป็นวัยรุ่น จึงคุมได้ยาก หลายวัดเลือกที่จะไม่ลงโทษหากไม่ทำผิดจนเกินเหตุ เพื่อนผมหลายคนเปลี่ยนเสื้อผ้าหนีเที่ยว อาจารย์ฝ่ายปกครองก็ทราบดี แต่ท่านก็ยอมให้ได้ตราบที่เณรไม่ไปยกพวกตีกับเด็กข้างนอกหรือทำการโจรกรรมเป็นต้น

อาจารย์สอนสังคมยังแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้ไปเรียนวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เพราะเราไม่ทราบว่าจะสึกเมื่อไหร่ ท่านแนะนำถึงขั้นที่ว่า หากเจ้าอาวาสไม่อนุญาตหรือโรงเรียน (การอาชีพฯเป็นต้น) ไม่รับ ก็ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าออกไปเรียน และค่อยกลับมาใส่จีวร

เพราะความเป็นพระเณรไม่ได้ขาดเพียงเพราะเปลี่ยนเสื้อผ้า มิฉะนั้นพระพิมลธรรมที่ถูกจับสึกแต่ท่านไม่ปรารถนาจะสึก ก็ต้องขาดจากความเป็นพระด้วย หรือขณะอาบน้ำที่ต้องแก้ผ้า ก็ต้องขาดจากความเป็นพระ แต่มิใช่ครับ เพราะการบวชและสึก ต้องอาศัยพิธีกรรมในการกล่าวคำปฏิญาณบางอย่าง

ตัวเลือกของพวกเรามีน้อยมาก เจ้าอาวาสบอกให้เรียนนักธรรม บาลี ก็ทำไปตามนั้น ผมมีโอกาสคุยกับเณรวัดสามพระยาช่วงอบรมบาลี อายุ 18 และ 20 ปี กำลังเรียน ป.ธ. 5 และ ป.ธ. 6 เมื่อคุยกันอย่างเปิดอก และเณรทราบว่าผมเรียน โท. ทางโลกและทำงานวิชาการ เณรก็บอกผมว่า

“ผมไม่ได้อยากเรียนบาลีเลยครับ แต่ไหนๆ เจ้าอาวาสส่งมาแล้วก็ต้องตั้งใจเรียน (บ้านอยู่ภาคอีสาน) ผมไม่ได้อยากเป็นทหาร (เพราะหากได้ ป.ธ. 9 สามารถสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์ได้) และไม่อยากเป็นเจ้าคุณฯ แต่ผมอยากเป็นช่างครับ ผมชอบซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า”

คำพูดนี้ดูปกติใช่ไหมครับ แต่ถ้าผมบอกว่า “ชีวิตเณรกำลังถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบ และยากที่เขาจะค้นพบตัวเอง” อย่างนี้ถูกไหม แท้จริงแล้วเณรเหล่านี้ไม่มีเพื่อนคุยด้วยซ้ำ ผมหมายถึง คนที่จะรับฟังเขาทุกเรื่องนะ มีแต่คนที่หันไปทางไหนก็บอกเขาว่า “เณรตั้งใจสอบให้ได้นะ เดี๋ยวจะได้เป็นเจ้าคุณฯ เจ้าคณะจังหวัด และสืบทอดศาสนา” ซึ่งพระเณรเหล่านั้นไม่ได้ต้องการ

และแน่นอนครับ คนชั่วอย่างผมก็แนะนำเณรไปว่า ให้ออกไปทำสิ่งเหล่านั้น อย่าเสียดายความเป็นสมณะ เพราะหากไปไม่รอดจริงๆ หรือค้นพบว่าเราเหมาะกับความเป็นพระเณร ก็กลับมาบวชเมื่อไหร่ก็ได้ “การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกดีนะ อย่างน้อยที่สุดต่อให้เราไม่ชอบ เราจะได้รู้และจะไม่กระหายอยากออกไปอีก คราวนี้ความแน่วแน่และตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตในศาสนาก็จะมั่นคงขึ้น อย่ากลัวที่จะพิสูจน์สิ่งนั้น” เณรบอกว่า “หลวงพี่เป็นคนแรกคับที่บอกให้ผมสึก ปกติมีแต่คนห้ามผมและชี้ให้เห็นโทษของชีวิตฆราวาส”

แม้จะออกมาใช้ชีวิตแบบฆราวาสแล้ว นานมากกว่าเราจะค้นพบตัวเองในแต่ละเรื่อง ขอยกตัวอย่างผมเอง และเป็นเรื่องเสื้อผ้าเท่านั้น ผมใช้เวลาราว 4 เดือนจึงจะทราบว่า เสื้อและกางเกงแบบไหนเหมาะกับคนอย่างผม เราจะดูออกว่าแบบไหนดูดีกว่าและแบบไหนดูเรียบหรือน่าเกลียด แต่ก็ไม่แน่ใจนะว่าที่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้เพราะเราเติบโตมาในศาสนาซึ่งสอนให้ใช้เสื้อผ้าเพียงเพื่อปกปิดร่างกาย ป้องกันหนาวร้อน จนทำให้ไม่ใส่ใจรายละเอียดหรือไม่

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยืนยันว่า ชีวิตต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ จึงจะทราบว่าเราชอบและเหมาะกับอะไร นี่เป็นเหตุผลเดียวกับการที่ไม่ควรบังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียนหรือบังคับทรงผม เพราะเท่ากับลดทอนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเติบโตในแบบของเขาเอง

พระ ป.ธ. 9 บางรูปบวชตั้งแต่เป็นเณร ชีวิตในทางโลกคับแคบมาก เขาทุกข์ใจแม้เพียงเผชิญปัญหาเล็กน้อยในวัด หลายรูปเวลาคุยกับผมนี่น้ำตาไหลเลย เพราะแท้จริงเขาโดดเดี่ยว และไปค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบชีวิตแบบพระเมื่ออายุ 45 เป็นต้น การมีความรู้เพียงศาสนาและจบ ป.ตรีในมหาลัยสงฆ์ (ซึ่งต้องยอมรับว่าคุณภาพไม่ได้ดีมาก) เป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เขาจึงไม่มีทางเลือก

เหตุที่พระเณรเหล่านี้คุยกับผม เพราะต่างกับคนอื่นตรงที่ ผมยกย่องการเรียนทางโลกมาตลอด ผมสอบบาลีราว 15 ครั้ง ยังได้แค่ ป.ธ. 7 หมายถึงผมสอบตกพอๆ กับสอบผ่าน แต่นั่นไม่ได้สำคัญ เพราะผมเน้นเรียนทางโลกมากกว่า เมื่อชอบศาสตร์แบบทางโลก เราจึงเหมาะกับการที่พระเณรเหล่านั้นเข้ามาคุย เนื่องจากเราจะไม่ดูถูกการตัดสินใจสึกของเขา และเราจะไม่ถ่วง/โน้นน้าวให้เขาต้องรู้สึกผิดที่ไม่อยากอยู่ในชีวิตพระ

ในวงการศึกษาของพระ คนที่จะให้คำปรึกษาเรื่องพวกนี้มีน้อยมาก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการเลือกทางเดินชีวิตของเขา อาจารย์ฝ่ายแนะแนว (ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีอยู่ไหม) ควรทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่ ดูว่าพระเณรรูปนั้นเหมาะกับอะไร แล้วหาตัวเลือกให้เขา แต่ที่น่าเสียดายคือ พระเณรเหล่านี้ถูกปลูกฝังให้รักศาสนา เชื่อว่าการอยู่แบบพระจะช่วยศาสนาได้มากกว่า (ซึ่งไม่จริง)

ผมมองว่า คำแนะนำพวกนั้น ส่วนใหญ่แล้วมาจากพระเถระที่ตนก็บวชมาตั้งแต่เป็นเณร และไม่มีโอกาสเลือกทางเดินของตนเช่นกัน การต้องขอ/ปลูกฝังให้คนอื่นอยู่ในศาสนาจึงเหมือนกับการหาเพื่อน วัดจึงดูเหมือนกลายเป็นศูนย์รวมของคนที่ไม่อยากหรือไม่มีโอกาสตัดสินใจในการใช้ชีวิต (แน่นอน ผมยอมรับว่ามีพระเณรที่ตั้งใจจะใช้ชีวิตเช่นนั้นจริงๆ แต่น้อยมาก หากได้คุยกันอย่างเปิดใจ)

สมัยผมเป็นเณร (2543-53) โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลยากมาก โทรศัพท์ก็มีเพื่อโทรเท่านั้น (นี่ยังไม่พูดถึงพระเณรที่ยากจนและไม่มีโทรศัทพ์ หรือ สำนักที่เคร่งจนห้ามใช้อุปกรณ์เหล่านั้น) ช่องว่างระหว่างชีวิตทางโลกกับทางธรรมก็มากยิ่งขึ้น คนที่มีประสบการณ์คือคนที่เปลี่ยนชุดออกไปเที่ยวดังที่กล่าวไปแล้ว

ช่วงทศวรรษนั้นและก่อนหน้า พระใหม่ที่บวชระยะสั้นจึงเป็นตัวเติมเต็มช่องว่างระหว่างชีวิตทางโลกและทางธรรม ท่านจะเล่าประสบการณ์ให้พวกเราฟังว่าในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร กินเหล้าและทะเลาะกับเพื่อนเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ปัญหาครอบครัวและวิธีแก้ พูดอย่างถึงที่สุดคือ เราได้ประสบการณ์จากพระใหม่มากกว่าจากเจ้าอาวาสด้วยซ้ำ และเจ้าอาวาสหลายรูปก็ไม่ชอบพระใหม่เหล่านั้น เพราะหลายคนมีการศึกษา เทศน์ได้เก่งแม้บวชเพียงไม่กี่วัน และที่น่าเจ็บใจที่สุดคือ จะมีพระเณรสึกตามพระใหม่ไป เพราะได้ฟังประสบการณ์ทางโลกเหล่านั้น

จริงๆ พระใหม่ที่บวชเพียงระยะสั้น ช่วยศาสนาได้มาก ทั้งการให้ความรู้/ประสบการณ์ทางโลกแก่พระเณร (เชื่อว่าหลายคนเคยจีบน้องสาว หรือลูกของพระใหม่ด้วยซ้ำ) ผมกินแมคโดโนล์ครั้งแรกก็เพราะพระใหม่ เมื่อท่านทราบว่าเราไม่เคยก็พาไปที่บ้านและบอกให้แม่ท่านไปซื้อมาให้ และพระใหม่ซึ่งบวชเพียงไม่กี่วันนี่แหละ ที่ช่วยสนับสนุนศาสนาผ่านกฐิน ผ้าป่า เพราะการบวชของเขา จะทำให้ครอบครัวเขาสนิทกับเจ้าอาวาส และผูกสัมพันธ์ต่อไปแม้เขาจะสึกไปแล้ว

และพูดให้ตรงคือ พระที่บวชระยะสั้นและสึกไปทำงานตลอดจนครอบครัวของเขา มีเงินในการช่วยศาสนามากกว่าพระ(และญาติโยมของท่าน) ที่อยู่ในวัด วัดไทยจึงอยู่ได้เพราะมีการบวชระยะสั้นนั่นแหละ ฉะนั้น จึงไม่ควรกลัวหากพระเณรคิดจะสึกเพื่อไปใช้ชีวิต เพราะมีแต่ประโยชน์ นั่นคือ หากเขาประสบความสำเร็จ เขาก็ช่วยวัดได้อีกแบบ หากเขาไม่ไหวและกลับมาบวช ก็ช่วยศาสนาในฐานะนักบวชได้

สิ่งที่น่ากลัวมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ “ปิดโอกาสในการเรียนรู้ของเขา และบังคับให้เขาต้องรู้สึกว่าเขาต้องแบกภาระศาสนาด้วยวิถีพระ” ผมคิดว่า ศาสนาพุทธจะเจริญต่อเมื่อคนมีอิสระในการเติบโตทางความคิด และวัดควรเปลี่ยนมาเป็นแหล่งส่งเสริมการเติบโตประเภทนั้น

อยากให้เจ้าอาวาสเปิดใจเรื่องพวกนี้ หันมาสนทนากับพระหนุ่มเณรน้อยมากขึ้น ถามว่าเขาอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร และหากรักเขาจริง ต้องช่วยสนับสนุน อย่างน้อยที่สุดคือ ให้ความรู้หรือแนะนำญาติโยมที่มีความรู้เรื่องแบบนั้นให้เขา แต่หากเจ้าอาวาสไม่เป็นเช่นนั้น เพราะท่านเองก็มีประสบการจำกัด โลกออนไลน์ปัจจุบันได้ทะลายกำแพงความรู้ไปแล้ว พระเณรเองสามารถเข้าถึงความรู้ได้ ท่านก็ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการเลือกอนาคตตัวเองครับ

“โปรดอย่ากลัวที่จะผิดพลาด เพราะทุกอย่างคือการเรียนรู้”

เจษฎา บัวบาล
12 ธันวาคม 2561

ขอบคุณภาพจาก https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/105406.html


12 comments:

  1. น่าจะมีสับตะไคร้ให้ด้วยนะครับ

    ReplyDelete
  2. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  3. จริงของท่านครับ ขอนับถือจากใจ ที่ช่วยอธิบายแมแนความในใจได้ละเอียดมากๆ

    ReplyDelete
  4. ชอบ ชัดเจนถูกต้อง

    ReplyDelete
  5. ถ้าได้เจริญ​สติ​ปัฏฐาน อย่างน้อย สัก 7 วัน หรือ 7 สัปดาห์​หรือ 7 เดือน คำกล่าวพวกนี้ คงไม่เกิดขึ้นหรอกนะ

    ReplyDelete
  6. เพราะไม่ได้เคยปฏิบัติ​ธรรม แม้แต่น้อย มัวแต่เรียน ตัวหนังสือ จึงไม่รู้​ว่า ชีวิตที่ออกไปเป็นฆราวาสนั้น วุ่นวายยิ่งกว่า

    ReplyDelete
  7. นึ้แหละครับตัวอย่างของผู้มีความคิดคับแคบก็แบบท่านนี้แหละ ถ้ามีลูกมีหลานก็จับมาเรีบนบาลีปราถนาพระนิพพานบ้างนะครับ ใครมันก็อยากมีชีวิตดีๆ ใช้ชีวิตมีสังคมมีเพือนฝูง มีครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง คนรัก หน้าที่งานการที่ดี ไม่มีเด็กที่ไหนมีความฝันว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นพระอรหันต์ หรือโตขึ้นหนูอยากเป็นท่านเจ้าคุณหรอกครับ ชีวิตฆราวาสเป็นของยากวุ่นวายก็เขาก็บอกอยู่เพราะปัจจัยอะไร พระเณรไม่มีเหมือนชาวบ้านเขา ตั้งแต่การศึกษาในสายงานสายอาชีพวิชาชีพและสังคมเป็นต้นฯลฯ ทำให้การออกไปอยู่เป็นฆราวาสในภายหลังมันยาก เเต่ท่านครับ ถ้าคิดว่าฆราวาสไม่ดีเลยมันคือมุมมองของศาสนาพุทธเถรวาทเท่านั้น เราเอามาตัดสินชีวิตจริงๆไม่ได้ เพราะทั้งโลกใบนี้เขาเป็นฆราวาสกันนะครับ หลายพันล้านคนบนโลกนี้เขาเป็นฆราวาส พวกพระเณรนี้แหละของแปลก ยังจะไปว่าเหมือนชีวิตอีกแบบไม่ใช้แบบปกติตกลงแบบใหนกันแน่ไม่ใช้แบบปกติ

    ReplyDelete
  8. ชอบไอเดียนี้มาก "ไม่มีเด็กคนไหนหรอก ที่มีความฝันว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอรหันต์" และจริงที่ว่า การดูถูกชีวิตฆราวาสว่ายากที่จะบรรลุธรรม เป็นเเนวคิดของเถรวาทจริงๆ เพราะมองสถานภาพคนไม่เท่ากัน ทั้งที่ไม่มีเครื่องมือพิสูจน์เลยว่า พระจะบรรลุธรรมมากกว่าฆราวาส 55

    ReplyDelete
  9. ชอบมากครับ แต่จริงๆ ชีวิตฆราวาสมันก็ไม่ได้อิสระขนาดนั้นน๊ะ ผมก็ถูกบังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่ค่อยชอบ กว่าจะผ่านอุปสรรคมาได้เลือดตาแทบกระเด็น

    ReplyDelete
    Replies
    1. จริงคับ ผมคิดว่าชีวิตในศาสนาง่ายกว่ามาก ไม่ต้องทำไรมาก คนก็เอาข้าวไปให้กิน การเป็นเจ้าคณะตำบล (หรือนายกอบต.แบบพระ) ก็มีคู่เเข่งน้อยกว่าทางโลก เป็นเจ้าคุณ ก็เพราะถูกเเต่งตั้ง ไม่เกี่ยวกับความรู้ ไม่ต้องสอบเเข่ง ถ้าคนรักชีวิตในศาสนา ชีวิตง่ายจริงคับ แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบชีวิตเเบบนี้ 555

      Delete
  10. The 13 BEST casinos in Las Vegas, NV in 2021 - Mapyro
    Best hotels in Las Vegas, NV · MGM Grand · Harrah's 용인 출장마사지 Las Vegas · Bellagio Las 군산 출장안마 Vegas · 광명 출장안마 Wynn Las Vegas · The 구리 출장샵 Venetian Resort & Casino · Wynn Las 부천 출장샵 Vegas.

    ReplyDelete