การมองว่าศาสนาใช้สงครามในการเผยแพร่น่าจะมาจากหลักคิดที่ว่า
ศาสนานั้นได้เข้าถึงชนชั้นนำก่อน จากนั้นจึงใช้อำนาจในการบังคับหรือไล่ฆ่าผู้ซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาตาม
เพราะหากศาสนาที่ใช้คมดาบนั้นเกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้ศรัทธาเล็กๆ
ต้องถูกอำนาจรัฐซึ่งนับถือศาสนากระแสหลักกวาดล้างเป็นแน่ ปัญหาหลักของการเชื่อว่าศาสนาเติบโตจากชนชั้นนำแล้วไหลไปสู่ชาวบ้าน
ได้มองข้ามการเติบโตของศาสนาผ่านวิถีชีวิตและปฏิสัมพันธ์ของชาวบ้านกับผู้มาเยือนด้วยกันเอง
การที่นักวิชาการพุทธไทยจะเชื่อเช่นนั้นด้วยอาจไม่แปลกนัก
เพราะประวัติศาสตร์ของเถรวาทสมัยพระเจ้าอโศกในอินเดียก็ถูกเล่าเช่นนั้น
คือพระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธและส่งเสริมกิจการศาสนาจนทำให้พุทธเติบโต ทั้งที่จารึกในเสาอโศกศิลาที่
12
ระบุชัดว่าพระองค์ทรงเป็นกลางทางศาสนา (พระพรหมคุณาภรณ์, 2552, น. 158-159)
แน่นอนว่าการเล่าเช่นนั้นอาจมุ่งผลทางการเมือง คือผู้นำที่ทรงธรรมควรเอาอย่างพระเจ้าอโศกและสนับสนุนศาสนาพุทธให้เจริญรุ่งเรือง
อิสลามในแหลมมาลายูเองก็มักถูกกล่าวหาว่าเติบโตเพราะทำสงคราม
คือสุลต่านหันมาศรัทธาและบังคับให้ฆ่าคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาตาม โดยสามัญสำนึกแล้ว
มนุษย์ไม่สามารถรัก/เคารพศาสนาที่ฆ่า (หรือบังคับว่าจะฆ่า) ครอบครัวของตนได้
และหากจำต้องยอมต่ออำนาจนั้นจริง เขาก็จะออกจากศาสนานั้นทันทีเมื่อมีอิสระ
แท้จริงแล้วมีงานวิชาการยืนยันว่าศาสนาอิสลามในแหลมมลายูเติบโตจากพ่อค้าทางเรือซึ่งเป็นชาวอาหรับ/จีน
เผยแพร่ด้วยการสร้างเครือข่ายทางการค้าและการแต่งงาน
อิสลามจึงขยายจากชาวบ้านจนเข้าสู่ราชสำนัก (Ishak &
Abdullah, 2012, p. 59)
ตัวอย่างนี้ชวนให้มองการเติบโตของศาสนาจากล่างขึ้นข้างบนได้ดีทีเดียว
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (2550) อธิบายการล่มสลายของพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย (อาณาจักรมัชปาหิต)
ว่าเป็นเพราะมุสลิมเข้ามามีอำนาจช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 (1930) ได้โค่นล้มกษัตริย์พุทธและสถาปนารัฐสุลต่าน
จากนั้นจึงใช้สงครามในการเผยแผ่ศาสนาจนทำให้หลายเกาะในอินโดนีเซียต้องหันมานับถือศาสนาอิสลามเพราะเกรงกลัวอำนาจ
ผู้ที่ไม่อยากเปลี่ยนศาสนาจึงต้องหนีไปอยู่เกาะบาหลี
(ทฤษฎีเดียวกับไทยที่หนีร่นจนถึงชายฝั่งทะเล แทรกโดยผู้เขียน)
ข้อเขียนนี้มีความผิดพลาดมากตรงที่ให้ความสำคัญกับศาสนามากเกินไป
แถมยังเป็นศาสนาที่ผ่าน mindset ที่เกลียดกลัวอิสลาม
น่าเสียดายที่งานของทวีวัฒน์เป็นการเขียนลง หนังสือพิมพ์มติชน
จึงไม่ได้ทำให้เป็นวิชาการและไม่ปรากฎการอ้างอิง
ข้อเท็จจริงก็คือ
ผู้คนในอาณาจักรมัชปาหิตและดินแดนรอบข้างไม่ได้เป็นพุทธ-ฮินดูเพียวๆ แบบที่เข้าใจ
เพราะหลักฐานระบุว่าดินแดนแถบนี้เป็นที่เดินทางมาค้าขายของคนหลายเชื้อชาติ (cosmopolitan) มุสลิมเองก็อยู่ที่นี่มานาน
หลักฐานหลุมฝังศพของสตรีขาวมุสลิมซึ่งเป็นบุตรของ Maimun มีมาตั้งแต่
ค.ศ. 1082 หรือหลุมศพของสุลต่าน Sulaiman bin
Abdullah bin al-Besir มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1211 (ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2553, น. 34-35) การตัดประวัติศาสตร์แบบศตวรรษและอำนาจทางการเมืองเชิงศาสนาแบบแข็งทื่อ
เช่น ศตวรรษที่ 12 อาณาจักรพุทธรุ่งเรือง และต่อมาศตวรรษที่ 14
มุสลิมเข้ามาฆ่ากษัตริย์พุทธและอิสลามก็เติบโต
ทำให้ไม่เห็นความเป็นพลวัตและความหลากหลายของผู้คนในดินแดนนี้ ซึ่งงานของทวีศักดิ์
เผือกสม (2553, น. 43) ก็ยืนยันว่า
พัฒนาการของอิสลามได้ใช้เวลาราวสามศตวรรษ (13-16) กล่าวคือ
การเผยแผ่ศาสนาก็ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี
และแน่นอนว่านั่นคือการชักจูงเปลี่ยนใจผู้คน
ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ผ่านการค้าและแต่งงาน
ไม่ใช่การใช้สงครามบังคับศรัทธา
การทำสงครามกันระหว่างแคว้นต่างๆ
ในศตวรรษที่ 13 ถือเป็นเรื่องปกติ
นั่นไม่ใช่สงครามศาสนา แต่เป็นสงครามแย่งยิงอำนาจการค้าขายหรือควบคุมท่าเรือ
นั่นคือมีการทำสงครามกันระหว่างเจ้าผู้ปกครองต่างศาสนาและมุสลิมด้วยกันเอง
เช่นเดียวกับ ไทย พม่า ลาวและกัมพูชา (ซึ่งอ้างว่านับถือพุทธ)
ต่อสู้เพื่อแย่งดินแดนหรือผู้คนกัน ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องศาสนา
แต่เป็นการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่า
ศาสนาก็ยังทำงานไปด้วยการกระจายคำสอน/ความเชื่อผ่านกิจกรรมของคนซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรม
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ย้ำว่า เราไม่ควรมองศาสนาโดยปราศจากมิติอำนาจอื่นๆ
อิสลามในอินโดนีเซีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงศตวรรษที่ 13-16 มีความหลากหลายมาก
ความเป็นอิสลามไม่ได้เข้มข้นในแบบที่เข้าใจ
คนจำนวนมากในหมู่เกาะโมลุกกะแม้จะเป็นมุสลิมมาเป็นครึ่งศตวรรษแล้ว (ราวศตวรรษที่ 16) ก็ยังไม่ได้ทำสุนัต (ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2553, น. 43) และหลักฐานที่สืบทอดมาจนปัจจุบันคือ สุลต่านยอกยาการ์ต้า
ซึ่งยังปกครองด้วยระบอบเดิม อันเป็นผลจากการร่วมกันต่อสู้เพื่อประกาศเอกราช
(อินโดนีเซียใช้ความเป็นชาตินิยมต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม
มิได้หลอมรวมคนด้วยการใช้ศาสนาอิสลามเพื่อต่อสู้กับคริสต์/ฝรั่ง)
เมื่อได้รับเอกราช
รัฐบาลอินโดนีเซียก็ยังเปิดโอกาสให้เมืองยอกยาการต้าได้ดำรงการปกครองแบบสุลต่านของตนต่อไป
ที่น่าสนใจคือ ภายในราชวังยอกยาการ์ต้ายังมีการประกอบพิธีแบบชวาพื้นเมือง
มีความเชื่อเรื่องสิ่งเร้นลับ และสตรีภายในราชวังไม่มีการคลุมผมแบบมุสลิม
เพราะสุลต่านอยากให้ยอกยาการ์ต้าดำรงอยู่ด้วยวัฒนธรรมชวาเดิม ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม
และจากการรายงานของ BBC พบว่า มีความพยายามที่จะให้พระราชกุมารีขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองคนต่อไป
ซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่ปกตินักที่จะเอาผู้หญิงมาเป็นผู้นำในทัศนะอิสลาม (BBCTHAI,
2018)
จะเห็นได้ว่า
ศาสนามักถูกเอามาใช้ในบางมิติเท่านั้น มุสลิมแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกัน
ฉะนั้นการเอาภาพมุสลิม ISIS ที่ฆ่าคนด้วยความโหดร้ายมาทำความเข้าใจอิสลามในดินแดนอื่นจึงให้ภาพที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
และเราจึงไม่ควรเหมารวมว่าอิสลาม (รวมทั้งศาสนาอื่นๆ) ต้องเป็นเหมือนกันโดยปราศจากการปรับตัวตามท้องถิ่น
และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการจะต้องคำนึงถึงการค้นคว้าเอกสารที่รอบด้านเพื่อป้องกันการเหมารวมและไม่มองศาสนา
(รวมทั้งเรื่องอื่นๆ) จากมุมมองด้านบนโดยละเลยปฏิสัมพันธ์ของชาวบ้าน
ปรับปรุงจากบทความ วิธีวิจัยด้านศาสนา:
กรณีศึกษาของพุทธในไทย อินโดนีเซียและญี่ปุ่น.
วารสารมานุษยวิทยาศาสนา, (1)1: 77-104 (2019). โดย เจษฎา บัวบาล อ่านวารสารฉบับเต็มได้ ที่นี่
อ้างอิง
BBCTHAI.
(2018). สุลต่านยอกยาการ์ตา: การปฏิวัติเพื่อให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ในราชวงศ์โบราณ.
เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 จากเว็บไซด์
https://www.bbc.com/thai/international-44338086
Ishak,
M & Abdullah, O. (2012). Islam and the Malay World: An Insight into the
Assimilation of Islamic Values. World Journal of Islamic History and
Civilization, 2(2): 58-65.
ทวีวัฒน์
ปุณฑริกวิวัฒน์. (2550).
ศาสนากับสังคมการเมืองในอินโดนีเซีย.
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2550
หน้า 6.
ทวีศักดิ์
เผือกสม. (2553). การทำอิสลามให้เป็นชวา. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภายใต้ชุดโครงการ
“ความสัมพันธ์ไทยกับโลกอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
BBCTHAI. (2018). สุลต่านยอกยาการ์ตา:
การปฏิวัติเพื่อให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ในราชวงศ์โบราณ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15
เมษายน 2562 จากเว็บไซด์ https://www.bbc.com/thai/international-44338086
Ishak, M & Abdullah, O. (2012). Islam and the Malay
World: An Insight into the Assimilation of Islamic Values. World Journal of
Islamic History and Civilization, 2(2): 58-65.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. (2550). ศาสนากับสังคมการเมืองในอินโดนีเซีย.
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8
กรกฎาคม 2550 หน้า 6.
ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2553). การทำอิสลามให้เป็นชวา.
รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภายใต้ชุดโครงการ “ความสัมพันธ์ไทยกับโลกอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2552). จารึกอโศก:
รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย. สมุทรปราการ: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์.
ภาพจาก https://catatanwongndeso.wordpress.com
No comments:
Post a Comment