Monday, August 27, 2018

ทุกศาสนาล้วนเผยแผ่ด้วยการโจมตีศาสนาอื่น




มักเชื่อกันว่า การเผยแผ่ศาสนาจะต้องไม่เหยียดหยามหรือกระทบต่อความเชื่ออื่น กรณีของ “บังโต” ซึ่งวิเคราะห์เรื่องรูปเคารพและพระพุทธเจ้าได้ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมไม่สมควร แต่ในทางกลับกัน ชาวพุทธจำนวนมากก็เคยวิจารณ์เรื่อง “พระเจ้าไม่มีจริง” หรือกล่าวหาพวกหมอผี คนทรง ว่างมงายหลอกลวง พฤติกรรมนี้ย่อมไม่ต่างกัน ผมเสนอว่า การวิเคราะห์หรืออ้างว่าศาสนาตนดีกว่าศาสนาอื่นเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะการขายสินค้าตัวใหม่ย่อมต้องบรรยายสรรพคุณว่าดีกว่าสินค้าเดิมที่เขาใช้อยู่อย่างไร สันติภาพควรเกิดจากการที่ผู้เห็นต่างถกเถียงกันโดยไม่ทำร้ายร่างกายกัน มิใช่เกิดเพราะถูกบังคับมิให้พูดในสิ่งที่ตนเชื่อ


ขณะเสวยสุขจากการตรัสรู้ ราชาแห่งพยานาคชื่อ มุจจลินท์ มาแผ่พังพานให้พระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันฝนและแดด (วินัย/มหา/ข้อที่ 5) ไม่ว่าจะตีความพยานาคว่าเป็นคนพื้นเมืองตามข้อเสนอของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2559) หรือจะยึดตามตัวอักษรว่าเป็นงูใหญ่ (ชฏิล 3 พี่น้องเป็นต้นก็บูชานาค ข้อที่ 37) แต่สิ่งที่ข้อความนี้สื่อคือ ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพของคนอินเดียจำนวนมากก็ยังต้องให้การอุปถัมภ์และเคารพพระพุทธเจ้า ฉะนั้น บรรดาสาวกของพยานาคก็ควรเคารพพระพุทธเจ้าด้วยหรือไม่?

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้าเคยน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ออกเผยแผ่ธรรม เพราะมองว่าสิ่งที่ตนค้นพบเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปซึ่งกิเลสหนาปัญญาน้อย ทันใดนั้น หัวหน้าพระพรหมเกรงว่าสรรพสัตว์จะไม่ได้ประโยชน์จากการตรัสรู้ จึงมานั่งพนมมือขอให้พระพุทธเจ้าออกไปแสดงธรรมด้วยเหตุผลว่า ผู้มีกิเลสน้อยปัญญามากที่จะเข้าใจธรรมะยังมีอยู่ และสุดท้ายพระองค์ก็รับอาราธนา (ข้อที่ 7-8)

การอ้างว่าพระพรหมขอร้องให้ช่วยแสดงธรรม แทบไม่ต่างกับที่มาของศาสดาในศาสนาเทวนิยม เป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งในการใช้สิ่งที่ผู้คนเคารพสูงสุด (God/Brahma) มาบอกว่า เรามิได้ทำเองในฐานะคนทั่วไป แต่เป็นการถูกเชิญจากพระผู้เป็นเจ้า สิ่งนี้อาจทำให้พราหมณ์รู้สึกเบาใจขึ้นหรือไม่ว่าเขากำลังรับฟังคำสอนของชายคนหนึ่งซึ่งพระพรหมให้เกียรติส่งมา? แต่อย่างน้อยพระพุทธเจ้าก็สื่อชัดว่า พระองค์ยิ่งใหญ่กว่าพระพรหมหรือพระเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างโลก นี่คือการข่มพระเจ้าของศาสนาอื่นหรือไม่?

น่าตั้งคำถามว่า สหัมบดีพรหมก็เป็นผู้มีปัญญามาก สามารถรู้ความคิดของพระพุทธเจ้าได้และทราบว่าสิ่งที่พระองค์ค้นพบเป็นธรรมะที่ถูกต้อง (ในสายตาชาวพุทธ) ทำไมพระพรหมไม่ขอให้พระองค์แสดงธรรมให้ฟังและพระพุทธเจ้าเองก็ไม่แสดงธรรมโปรดพระพรหม? แต่หากพระพรหมได้บรรลุอรหันต์ขึ้นมาแล้วกลายเป็นสาวกคนแรกของพระพุทธเจ้า อาจส่งผลต่อชีวิตของพระพุทธเจ้าก็เป็นได้เพราะเป็นการข่มศาสนาพราหมณ์ที่รุนแรงเกินไป

เมื่อทรงเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การทรมานตัวเองแบบนักบวชสมัยนั้นและการเสพสุขไปวันๆ เป็นทางที่ไม่สามารถพบความสุขได้จริง แล้วเสนอวิธีการใหม่คือ “ทางสายกลาง” พระองค์ทรงตำหนิวิธีเดิมด้วยคำที่รุนแรง คือ เป็นสิ่งเลวทราม (หีโน) เป็นของชาวบ้าน (คมฺโม) เป็นของคนมีกิเลสหนา (โปถุชฺชนิโก) ไม่ใช่วิถีของอารยะชน (อนริโย) เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ (อนตฺถสญฺหิโต) (ข้อที่ 13)
   
จากนั้นพระองค์ก็ยกคำสอนใหม่ขึ้นมา ว่าเป็นความจริงที่ดีที่สุด (อริยสัจ) และมีวิธีปฏิบัติที่เป็นอารยะ (อริยมรรค) ดังนั้น เราควรเลิกเชื่อว่า ศาสนาพุทธไม่เคยเบียดเบียนหรือกล่าวโจมตีใคร เพราะการชี้ให้เห็นว่าตนเองประเสริฐกว่าศาสดาอื่นๆ คำสอนอื่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ/ผิดทาง เป็นวิธีพื้นฐานในการเผยแผ่ของทุกศาสนา

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะโต้แย้งกันอย่างไร แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ส่งเสริมให้ใช้กำลังทำลายผู้เห็นต่าง สิ่งนี้ควรสนับสนุนให้มีขึ้นในหมู่ศาสนิกทั้งหลาย จริงๆ แล้วความอดทน (tolerance) ที่จะรับฟังความเห็นต่างเป็นการสะท้อนถึงการเป็นคนใคร่รู้ ไม่ผูกมัดตนเองกับความเชื่อเดิม เพราะชีวิตที่พัฒนาจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ผมเชื่อว่า ศาสนาพุทธเกิดขึ้นเพื่อเตือนให้คนไม่เป็นคนหูเบา ศรัทธางมงาย พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ตรวจสอบทุกอย่างก่อนจะเชื่อ แม้คำสอนนั้นออกจากปากพระองค์เอง

การแสดงเหตุผลว่าสิ่งที่ตนเชื่อดีกว่าความเชื่ออื่นจึงเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ สิ่งนี้มาพร้อมกับการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายโต้ตอบด้วยเหตุผล ซึ่งในท้ายที่สุดใครจะเชื่ออะไรก็เป็นวิจารณญาณส่วนตน เขายังมีสิทธิ์ที่จะเชื่อและพูดต่างจากสังคมได้ตราบที่ไม่ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินใคร

แต่การห้ามไม่ให้พูดถึงความเชื่ออื่นหรือการใช้กฎหมายลงโทษเมื่อวิพากษ์ศาสนาอื่นเป็นสิ่งที่ทำลายเสรีภาพการแสดงออกของมนุษย์ สันติภาพจึงไม่ได้เกิดจากการห้ามคนอื่นพูดต่างไปจากตน แต่คือการเปิดโอกาสและฝึกให้ทุกคนวิพากษ์และเเสดงออกถึงสิ่งที่ตนเชื่อด้วยเหตุผลโดยไม่ต้องตีหัวกัน

เจษฎา บัวบาล
27 สิงหาคม 2561

อ้างอิง
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). นาคคือคนพื้นเมือง. ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม. เข้าถึงจากเว็บไซด์  https://www.matichonweekly.com/culture/article_12532 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561.

ภาพจาก girlscouts.org

No comments:

Post a Comment