Thursday, September 13, 2018

ยิ่งเคร่งศาสนายิ่งเกลียดคนอื่น





ศาสนาควรถูกพูดถึงทั้ง 2 มิติ คือในแง่ตัวบทคำสอนซึ่งปรากฏในคัมภีร์และชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติกัน ปกติแล้วปัญหามักเกิดจากข้อหลังซึ่งได้รับการตีความอย่างเคร่งครัด ผมจะเสนอว่า ไม่ว่าแต่ละศาสนาจะมีคำสอนที่ประเสริฐแค่ไหน แต่ในชีวิตจริง ศาสนิกที่เคร่งครัดมักรังเกียจผู้อื่นและหยุดใช้เหตุผลที่เมตตาต่อมนุษย์ที่ต่างไปจากตน

ผมจึงไม่ได้มีปัญหากับคำสอนทางศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์แต่อย่างใด เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยพบปะกับเพื่อนต่างศาสนิก และขอย้ำว่า ในแต่ละศาสนา มีคนที่เคร่งครัดจำนวนไม่น้อยที่เปิดใจกว้างซึ่งต่างกับกรณีตัวอย่างเหล่านี้

ชาวพุทธ .. สองปีที่แล้วผมทำวิจัยในต่างประเทศและต้องอาศัยวัดพุทธของธรรมยุตแห่งหนึ่ง ผมเปิดเผยกับเจ้าอาวาสแต่แรกว่าผมบวชในมหานิกาย (ซึ่งเป็นอีกนิกายหนึ่ง) ท่านเองไม่ได้มีปัญหาอะไร ผมได้รู้จักพระผึ้งอายุ 50 ปี เป็นนักปฏิบัติ ท่านเป็นธรรมทูตแค่ชั่วคราวเท่านั้นและวางแผนจะกลับไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อที่วัดป่าทางภาคอีสาน

เพราะความที่ท่านเคร่งครัดวินัย ชอบพูดแต่เรื่องปฏิบัติธรรม จึงไม่ค่อยมีพระสนทนากับท่าน ผมเองในฐานะนักวิจัยก็เข้าหาทุกคนและรับฟังเพื่อจะทราบที่มาและวัตถุประสงค์ในการทำงานของแต่ละท่าน รู้จักกันราว 2 อาทิตย์ ท่านดูเหมือนจะสนิทกับผมมากที่สุดเพราะพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ไปไหนก็จะชวนผมไปด้วย แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อถึงวันอุโบสถที่ต้องลงฟังปาฏิโมกข์

ท่านเรียกผมไปปลงอาบัติ (กิจที่พระมักทำกันก่อนฟังปาฏิโมกข์) ผมกางหนังสือออกเพราะจำบทนั้นไม่ได้ เนื่องจากมหานิกายและธรรมยุตใช้ต่างกัน ท่านชะงักและรู้ทันทีว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับท่าน ท่านจึงลุกไปปลงอาบัติกับพระอีกรูป พระไทยที่นั่งข้างๆ มองดูเหตุการณ์อยู่ จึงเรียมผมไปปลงกับท่าน บอกให้ผมว่าแบบมหานิกายได้เลย ส่วนท่านก็ว่าแบบธรรมยุต เสร็จแล้วกระซิบว่า “ต่อไปถ้ามีอะไร ท่านมาทำกับผมนะ”

ไม่น่าเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างผมกับหลวงพ่อผึ้งสิ้นสุดลงง่ายๆ เพียงเพราะความต่างของนิกาย ท่านเลี่ยงที่จะไม่คุยกับผมอีกเลย กรณีที่คุยกันเป็นวง ก็จะชวนพูดเรื่องข้อดีของธรรมยุตและความหย่อนยานของมหานิกาย ในฐานะที่อยู่วัดนั้นนานถึงสามเดือน ผมเชื่อว่าหลวงพ่อผึ้งเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ ท่านพยายามทำตามวินัยอย่างมาก สิ่งที่รบกวนใจผมคงมีแต่เรื่องนั้นเรื่องเดียว

ชาวคริสต์ .. ช่วงปี ค.ศ. 2015 ผมมีโอกาสรู้จักกับบาทหลวงซึ่งเป็นหัวหน้าคริสตจักรแห่งหนึ่งในภาคใต้ ท่านจบ ป.โท และเป็นคนเปิดใจมาก อาจารย์ที่มหาลัยชวนผมไปเยี่ยมชมกิจกรรมของโบสถ์คริสต์โดยขออนุญาตบาทหลวงท่านนั้นต่อหน้า และผลก็คือ หลังจากนั้นหนึ่งเดือนผมก็ได้ไปดูกิจกรรมของเขา

วันนั้นมีพี่น้องชาวคริสต์มาร่วมสวดมนต์/ร้องเพลงราว 70 คน หลายคนเจอผมก็ยกมือไหว้ (อาจเพราะเคยเป็นพุทธมาก่อน) บ้างก็ทักทาย และจำนวนหนึ่งพยายามไม่มองหน้า หรือมองด้วยความรังเกียจ

เพิ่งทราบตอนหลังว่า เหตุที่ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนกว่าจะได้ไปนั้น เพราะบาทหลวงต้องไปปรึกษากับสมาชิกก่อน และใช้เวลานานมากจึงจะทำให้เพื่อนสมาชิกเห็นดีเห็นงามด้วย ท่านบอกผมว่า “เป็นธรรมชาติที่คนเคร่งศาสนาจะมองว่าความเชื่อของตนถูกและรังเกียจคนอื่น คนเหล่านี้ลืมไปว่าแท้จริงแล้วถ้าเราไม่เข้าหาคนที่เชื่อต่างออกไป แล้วเราจะเพิ่มจำนวนสมาชิกได้อย่างไร การต้อนรับคนแปลกหน้าด้วยอัธยาศัยที่ดีต่างหากจึงจะสามารถทำให้เขาหันมาสนใจพระเจ้าของเราได้”

ชาวมุสลิม .. เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ปัตตานี เธอนำเนื้อกุรบาน ซึ่งเป็นเนื้อที่เชือดผ่านพิธีกรรมของอิสลามมากินที่โรงอาหาร เธอยื่นเนื้อนั้นให้ผมลองชิม แต่เพื่อนมุสลิมผู้ชายอีกคนซึ่งเป็นคนภาคกลางได้ห้ามไว้โดยบอกว่าเนื้อนั้นควรแบ่งให้เฉพาะมุสลิมเท่านั้น เพื่อนผู้หญิงพยายามเถียง จนสุดท้ายผู้ชายก็ยอม แต่เพื่อความสบายใจ ผมจึงอ้างว่า “ไม่เป็นไรหรอก ปกติผมไม่ค่อยชอบเนื้อวัวอยู่แล้ว”

ในช่วงของการละหมาดตอนเย็น ทีมนักวิจัยจากมหาลัยซึ่งมีผม (เป็นพระ) อยู่ด้วยขออนุญาตเข้าไปดูขั้นตอนการละหมาด ผู้นำได้อนุญาต แต่ชายแก่คนหนึ่งเดินมากระซิบว่า “ผู้นำท่านอนุญาตเพราะไม่กล้าปฏิเสธทีมอาจารย์ แต่โดยธรรมเนียมแล้ว ช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้เราไม่อนุญาตให้คนต่างศาสนาเข้า โปรดเคารพธรรมเนียมนี้ด้วย”

ถึงจุดนี้เราอาจมองว่าคริสต์และอิสลามใจแคบ ขอย้ำว่า นี่คือประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พบ อาจมีที่อื่นๆ ยินดีต้อนรับคนต่างศาสนาก็เป็นได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย สิ่งนี้พบได้แม้แต่วัดพุทธครับ

ไม่นานมานี้เราทราบข่าวของโรงเรียนวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เจ้าอาวาสขอให้นักเรียนมุสลิมถอดผ้าคลุมออกขณะมาเรียนหนังสือ มูลนิธิมุสลิมยกรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพทางศาสนามายัน แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ต้องแพ้ พรบ.สงฆ์ ซึ่งให้อำนาจเจ้าอาวาสในฐานะหัวหน้าวัดและทำหน้าที่เหมือนเจ้าของวัดและโรงเรียน

ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีจริงหรือไม่ ผมไม่ขอเถียง เพราะไม่ทราบว่าความดีคืออะไรกันแน่ อยู่ที่ใครจะนิยามเอา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนที่เคร่งศาสนาจำนวนมากไร้เมตตา จะรักเพื่อนมนุษย์ก็ต่อเมื่อเขามาเชื่อและปฏิบัติแบบเดียวกับตนเท่านั้น

ศาสนาในมิตินี้จึงไม่ใช่สิ่งที่สร้างสันติในแบบที่อ้าง หากแต่เป็นการสร้างตัวตน รูปแบบเฉพาะ เพื่อกีดกันคนอื่นออกไป หรือต่อให้อยากเข้าหาเขา ก็มิได้เกิดจากความรัก แต่เพราะเชื่อว่าเขาผิด/โง่ จะต้องทำให้มาเชื่อแบบตน

สำหรับผมแล้ว ความเมตตาจะเกิดไม่ได้จริง ตราบที่เราไม่สามารถรักคนอื่นได้โดยที่ปล่อยให้เขาเป็นแบบที่เขาเลือกครับ

เจษฎา บัวบาล
14 กันยายน 2561

No comments:

Post a Comment